ขีดเส้น 4 ปี จัดพื้นที่ทำเหมืองแร่ ไม่กระทบชุมชน 52 ล้านไร่ทั่วประเทศ (15 พ.ย. 60)
Thai PBS 15 พฤศจิกายน 2560
ขีดเส้น 4 ปี จัดพื้นที่ทำเหมืองแร่ ไม่กระทบชุมชน 52 ล้านไร่ทั่วประเทศ
กรมทรัพยากรธรณี ผลักดันแผนปฏิรูปแร่ 20 ปี นำร่อง 4 ปีแรก ขีดเส้นจำกัดพื้นที่ทำเหมืองแร่ทองคำและเหมืองแร่ทุกชนิดให้ชัดเจน ไม่กระทบชุมชน สิ่งแวดล้อม เผยมีพื้นที่ศักยภาพทำเหมืองได้ 52 ล้านไร่ทั่วประเทศ
วันนี้ (15 พ.ย.2560) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมทรัพยากรธรณี จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อจัดทำร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่เป็นวันสุดท้าย และเสนอคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ และหากผ่านความเห็นชอบ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช่วงต้นปี 2561
สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อร่างแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับกิจกรรมเหมืองแร่ กลุ่มผู้ประกอบการและผู้สนับสนุนการพัฒนาเหมืองแร่ และกลุ่มหน่วยงานราชการ หรือสถาบันทางวิชาการ
การเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่กรมทรัพยากรธรณี กำหนดร่างแผนยุทธศาตร์บริหารจัดการแร่ 20 ปี พ.ศ.2560-2579 ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะเริ่มแผนยุทธศาสตร์ที่ดำเนินการในช่วง 4 ปีแรก (2560-2564) รวม 4 ด้าน ได้แก่ การจำแนกเขตแหล่งแร่ การกำหนดนโยบายบริหารจัดการแร่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การพัฒนากลไกการกำกับดูแลและอำนวยความสะดวก และการเสริมสร้างและส่งเสริมการมีส่วนร่วม
นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์การจำแนกเขตแหล่งแร่จะทำให้อนาคตการบริหารจัดการแร่เกิดความชัดเจนมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องนำแร่ที่มีมาใช้ทำเหมืองแร่ทั้งหมด จะทำเฉพาะที่ต้องการใช้ประโยชน์ เนื่องจากทรัพยากรแร่ของไทยมีจำนวนมาก ส่วนภาพรวมขณะนี้มีพื้นที่ที่มีแหล่งแร่ประมาณ 60 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ป่าสงวน 8 ล้านไร่ เหลือพื้นที่ศักยภาพแร่มากถึง 52 ล้านไร่ หรือร้อยละ 19 ของพื้นที่ทั่วประเทศ
ปัจจุบันกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้ใบอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ไปแล้ว ตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับเดิม (ก่อนวันที่ 29 ส.ค.2560) ประมาณ 1,000 แปลง รวมพื้นที่ประมาณ 200,000 ไร่ ขณะนี้เอกชนยื่นคำขออนุญาตสำรวจแร่ไปทาง กพร. ประมาณ 1 ล้านไร่ รวมถึงพื้นที่ที่รัฐอยู่ระหว่างสำรวจแหล่งแร่ประมาณ 30 ล้านไร่ ซึ่งต้องนำมาจัดระเบียบใหม่
นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า การทำเหมืองแร่ในอนาคตจะแตกต่างจากเดิม โดยคำนึงถึงมิติด้านสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมด้วย และต้องทำตามหลักไมนิ่งโซนที่จะมีการกำหนดพื้นที่ทำเหมืองที่ชัดเจน หากที่ใดพบว่ามีศักยภาพทำเหมืองได้ แต่อยู่ในพื้นที่ชุมชน ก็ต้องคำนึงถึงชุมชนด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา