สวดแผนแม่บท-ยุทธศาสตร์ "แร่" ยังมีช่องโหว่ ขาดส่วนร่วม-ประดิษฐ์คำสวยหรูแต่ปฏิบัติไม่ได้ (14 พ.ย. 60)
Green News TV 14 พฤศจิกายน 2560
สวดแผนแม่บท-ยุทธศาสตร์ ‘แร่’ ยังมีช่องโหว่ ขาดส่วนร่วม-ประดิษฐ์คำสวยหรูแต่ปฏิบัติไม่ได้
นักวิชาการเห็นด้วย “ไทย” จัดทำยุทธศาสตร์แร่ 20 ปี – แผนแม่บทแร่ แต่ยังมีช่องโหว่ ขาดการมีส่วนร่วม-กฎหมายเก่ายังไม่พร้อม ชี้ต้องหาทางล้อมคอกปัญหาแร่เถื่อน
นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยกับสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) ว่า เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทยที่มีการจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560 – 2564 แต่ก็ยังมีข้อติติงและยังพบปัญหาจากยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าว
สำหรับปัญหาแรกคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งในทางปฎิบัติจะไม่สามารถเป็นไปตามที่ระบุไว้ในยุทธศาสตร์และแผนแม่บทได้เลย เพราะปัญหาอยู่ที่กระบวนการซึ่งได้ออกแบบไว้โดยขาดการมีส่วนร่วม เช่น การจัดประชาคมก็มักพบว่ามีหลากหลายวิธีการที่ทำให้ประชาคมผ่าน ฉะนั้นกระบวนการจัดประชาคมจึงไม่ควรทำโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือบริษัทเอกชน หากแต่ควรมีคนกลางเข้ามาจัดกระบวนการ
นอกจากนี้ ในส่วนของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่มีการกำหนดว่าจะต้องทำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 นั้น จะพบว่าในตัวของแผนแม่บทเองไม่ได้มีปัญหา แต่เมื่อไปอ้างอิงกฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งมีปัญหาก็จะทำให้เกิดปัญหาได้ โดยเฉพาะในกระบวนการจัดทำอีไอเอ และอีเอชไอเอที่ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล
นายไชยณรงค์ กล่าวว่า ยังมีอีกหลายปัญหาที่แผนแม่บทไม่ได้พูดถึง โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์แร่ในประเทศไทย เช่น ปัญหาการทำแร่เถื่อนผิดกฎหมาย ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ อาทิ จ.เลย จ.นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่การได้รับสัมปทานแร่แต่มีการทำเหมืองแร่นอกพื้นที่ โดยปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาพูดถึงและขาดมาตรการในการแก้ไข
“ยุทธศาสตร์และแผนแม่บทจำเป็นต้องมี เพราะหากไม่มีก็จะทำให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ส่วนตัวสนับสนุนให้มี แต่ขอติงในเรื่องการเอาคำใหญ่ๆ มาใช้ ซึ่งในทางปฏิบัติก็ไม่รู้ว่าจะนำมาสู่สิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ เช่น คำว่าเศรษฐกิจพอเพียง เพราะการทำเหมืองแร่ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง หรือคำว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งหากเป็นไปตามเอสดีจีจริงๆ เหมืองแร่ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่วนตัวเป็นห่วงว่าคำเหล่านี้เอามาประดับเพื่อให้ยุทธศาสตร์และแผนดูดี แต่ในทางปฏิบัติจะซ้ำรอยเดิม” นายไชยณรงค์ กล่าว