จี้ "บิ๊กตู่" รื้อ กม.สิ่งแวดล้อมจัดการมลพิษ พบต้นตอ 'เอกชน-นักวิจัย' ปั้น 'EIA' ลวงโลก (14 พ.ย. 60)

MGR Online 14 พฤศจิกายน 2560
จี้ ' บิ๊กตู่ ' รื้อ กม.สิ่งแวดล้อมจัดการมลพิษ พบต้นตอ 'เอกชน-นักวิจัย ' ปั้น ' EIA 'ลวงโลก

เครือข่ายภาคประชาชนฯ เคลื่อนถึงทำเนียบ เตรียมนัดชุมนุมใหญ่ ปักหลักยืดเยื้อ จี้รัฐบาลตั้งกรรมการร่วมเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ก่อนเสนอเข้า สนช. ชี้เกณฑ์จัดทำ EIA และ EHIA แบบเก่า คือต้นตอปัญหา เหตุเจ้าของโครงการสามารถบีบให้ปั้นข้อมูลเท็จ หวั่น กม.ใหม่เลวร้ายกว่าเดิม เปิดช่องเดินหน้าโครงการโดยไม่ผ่านการศึกษา ผลกระทบสิ่งแวดล้อม

“เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เดินหน้ากดดันรัฐบาล คสช. ให้ดำเนินการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560 โดยได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 14 พ.ย.นี้ เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากรัฐบาลยังคงเพิกเฉยทางเครือข่ายฯ จะนัดชุมนุมใหญ่และเดินทางปักหลักที่หน้าทำเนียบรัฐบาลจนกว่าจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจ

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล หนึ่งในแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายฯ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.ระบบของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ควรมีการประเมินระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment - SEA) ที่เป็นการประเมินด้านศักยภาพและข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้เห็นความเหมาะสมกับพื้นที่และเป้าหมายของการพัฒนา หากว่าสอดคล้องจึงค่อยจัดทำ EIA (การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม) หรือ EHIA (การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) หากไม่สอดคล้องต้องไม่ดำเนินโครงการนั้น 2.ควรตัดมาตรา 53 วรรค 4 ออกจากร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมฯ ซึ่งเป็นการนำคำสั่ง คสช.ที่ 9/2559 มาบัญญัติไว้ ในกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน สามารถดำเนินโครงการไปก่อนได้ในระหว่างรอผลพิจารณาอีไอเอนั้น และ 3.องค์การบริหารจัดการระบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรแยกเป็นหน่วยงานอิสระ หรือหน่วยงานกลาง

ขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อแก้ไขขัดเกลาถ้อยคำเสร็จก็จะส่งคืนมายังคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเข้าสู่การพิจารณาของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ต่อไป ซึ่งทางเครือข่ายฯ เห็นว่าเพื่อให้การร่างกฎหมายเป็นไปด้วยความรอบคอบและสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาน รัฐบาลจึงควรระงับร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ก่อนและตั้งกรรมการร่วมระหว่างรัฐและเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ก่อนที่จะส่งให้ สนช.พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นเกิดจากการรวมตัวของประชาชนทั้ง 6 ภาค คือ เหนือ อีสาน ตะวันออก กลาง กทม. และใต้ โดยมีองค์กรต่างๆ เข้าร่วมถึง 136 องค์กร จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับนโยบายของรัฐบาลที่ทำลายฐานทรัพยากรของประเทศและขัดแย้งกับทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ ซึ่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ก็เป็นหนึ่งในประเด็นปัญหาที่ทางเครือข่ายเห็นว่าส่งผลกระทบต่อภาคประชาชน โดยในการยื่นหนังสือต่อรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ย.นี้ ทางเครือข่ายฯ ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ต่างๆ มาเสนอให้รัฐบาลและสาธารณชนได้รับทราบด้วย

จากข้อมูลที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีโครงการที่เกิดจากนโยบายภาครัฐจำนวนไม่น้อยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งที่โครงการเหล่านี้ล้วนผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น โครงการสุดฉาว ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวนานเกือบ 30 ปี อย่าง “โครงการเขื่อนปากมูล” ของ กฟผ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลก และ กฟผ.รับมาดำเนินการ ปี 2522 โดยเป็นการสร้างเขื่อนใน จ.อุบลราชธานี กั้นแม่น้ำมูล เพื่อรองรับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ผลกระทบจากโครงการประการแรกคือ ทำให้ชาวบ้านต้องย้ายถิ่นฐาน โดยในปี 2522 มีการโยกย้ายที่อยู่ของประชากรถึง 4,000 หลังคาเรือน ทำให้เกิดกระแสคัดค้านอย่างหนัก จึงได้ชะลอโครงการไว้ถึง 6 ปี

ต่อมาในปี 2528 กฟผ.ได้ย้ายเขื่อนออกไปจากจุดเดิมและลดระดับการกักเก็บน้ำลง จากการสำรวจในปี 2532 พบว่ามีประชากรได้รับผลกระทบรวม 903 ราย เป็นผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนรวม 248 หลังคาเรือน

ที่สำคัญโครงการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเรื่องผลกระทบต่อการทำประมงในแม่น้ำมูล เนื่องจากตัวเขื่อนขวางการเดินทางของปลาในฤดูวางไข่ เพราะตั้งปิดประตูเขื่อนไม่เช่นนั้นไม่สามารถให้กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างพอเพียง ต่อมาได้แก้ไขคือ เปิดประตูเขื่อน “สุดบาน” ปีละ 4 เดือนในฤดูปลาวางไข่ และในปี 2550 รัฐบาลมีมติให้รักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูลไว้ที่ 106-108 เมตร จึงต้องปิดประตูเขื่อน ส่งผลให้ชาวบ้านประท้วงกดดัน สุดท้าย ครม.จึงต้องพิจารณาเปิดเขื่อนปากมูล

อย่างไรก็ดี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินเป็นค่าเวนคืนมากกว่า 1,500 ล้านบาท รวมทั้งชดเชยค่าสูญเสียรายได้จากการประมงอีกกว่า 500 ล้านบาท แต่ก็ยังมีปัญหาการจ่ายเงินชดเชยแก่ชาวบ้านไม่ครบถ้วน

ส่วนโครงการเจ้าปัญหาที่กลายเป็นตำนานแห่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อย่าง “โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ” จ.ลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อให้เกิดมลภาวะจากสารพิษ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือกำมะถัน ที่ส่งผลกระทบต่อคน พืช และสัตว์เลี้ยงอย่างรุนแรง

โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง ได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีผู้ป่วยอันเนื่องมาจากสารพิษจากโครงการดังกล่าวถึง 1,257 ราย โดยเป็นผู้ป่วยนอก 1,222 ราย และต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 35 ราย ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบ จำนวนถึง 497 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง และศาลปกครอง เพื่อเรียกร้องให้ กฟผ.ทำตามกฎหมาย และขอให้เยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยมีผู้ฟ้องคดีที่ป่วยและเสียชีวิตไประหว่างต่อสู้คดีถึง 20 ราย ขณะที่ผู้ป่วยอีก 346 รายที่ยื่นฟ้องแต่ไม่ได้เข้ารับการตรวจร่างกายและไม่มีใบรับรองแพทย์ ส่งผลให้ศาลไม่รับฟ้อง ทำให้เหลือผู้ฟ้องคดี 131 ราย

คดีดังกล่าวมีการต่อสู้คดีในชั้นศาลยาวนานถึง 12 ปี ท้ายที่สุดศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ กฝผ. จ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายรวม 25 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี โดยผู้ที่ได้รับค่าชดเชยต่ำสุด ได้รายละ 10,000 บาท ได้สูงสุดรายละ 240,000 บาท ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะคุ้มกับความทุกข์ทรมานจากโรคร้ายที่เป็นผลจากมลพิษจากโรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหนาสาหัสก็คือ “วิกฤตน้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง” ซึ่งมีน้ำมันดิบถึง 50,000 ลิตร รั่วไหลจากเรือบรรทุกน้ำมันของบริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ในเครือ ปตท. เมื่อเดือน ก.ค. 2556 ทำให้ชายฝั่งเกาะเสม็ด รวมถึงพื้นที่ชายฝั่งอื่นๆ ของ จ.ระยอง ถูกปกคลุมไปด้วยคราบน้ำมัน ซึ่งส่งผลให้มีปริมาณปรอทเกินค่ามาตรฐานถึง 29 เท่า มีโลหะหนักและสารพิษต่าง ๆ ปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก วิกฤตการณ์ดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างรุนแรง มีสัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก เกิดปะการังฟอกขาวปกคลุม 80 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่แล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อธุรกิจอย่างมหาศาล ทั้งธุรกิจประมง อาหารทะเลแช่แข็ง ท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนธุรกิจอื่นๆ รวมกว่า 32,422 ราย

อย่างไรก็ตามแม้เวลาจะผ่านไปถึง 4 ปีแล้วสถานการณ์ก็ยังน่าวิตก โดยปริมาณปลาและสัตว์ทะเลยังคงน้อยและลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจในปี 2559 พบว่าปริมาณเคยลดลงถึง 95% ปลาอินทรี ของขึ้นชื่อของ จ.ระยอง ลดลงกว่า 60% จำนวนปูลดลงถึง 40% แต่ที่น่ากลัวกว่านั้นคือสัตว์น้ำมีความผิดปกติ เช่น ตาบอด มีเนื้องอก ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ขณะที่มาตรการเยียวยาของ PTTGC กลับเป็นไปแบบเสียมิได้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ได้รับเงินเยียวยาเพียงรายละ 6,000 บาท จากที่บริษัทรับปากว่าจะให้เยียวยา 7,500 บาท

โครงการสัมปทานเหมืองแร่และเหมืองทองคำ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศนั้นถือเป็นประเด็นปัญหาล่าสุดที่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน จนนำไปสู่คำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อต้นเดือน พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา โดยใช้ ม.44 สั่งปิดเหมืองทองชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รอยต่อ 3 จังหวัด พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ซึ่งเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2544 พร้อมด้วยคำสั่งยุติการทำเหมืองทองทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้ โดยให้ยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตร ทำเหมืองแร่ทองคำรวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรด้วย ซึ่งจะมีผลให้บริษัทเอกชนที่ยื่นคำขออนุญาตทั้ง 2 กรณีดังกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ ถูกปฏิเสธคำขออนุญาตทั้งหมด แบ่งเป็นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำ 12 บริษัท จำนวน 177 แปลงในพื้นที่ 10 จังหวัด และคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ 107 แปลง อยู่ที่ จ.เลย เป็นคำขอของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ส่วนคำขอต่ออายุประทานบัตรมีแปลงเดียวคือของบริษัทอัคราฯ เนื่องจากเห็นว่าการทำเหมืองแต่ละแห่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุภาพของประชาชน

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่าการทำเหมืองนั้นก่อให้เกิดมลพิษที่ฟุ้งกระจายไปในอากาศและตกลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับสารพิษ สำหรับกรณีเหมืองทองอัครานั้น ประชาชนในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ว่า ได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง มีสารตกค้างอันตรายเกินกว่ามาตรฐานปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม และนำมาซึ่งการเจ็บป่วยของชาวบ้าน โดยข้อเท็จจริงในประเด็นนี้นั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายให้เข้าไปเก็บตัวอย่างทางชีวภาพเพื่อตรวจหาปริมาณสารหนูและแมงกานีสมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน 2557 จากจำนวนตัวอย่าง 732 ราย ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการพบสารหนู-แมงกานีสเกินค่าอ้างอิง 394 ราย และมีประชาชนได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง 8,449 คน

นายประสิทธิ์ชัย บอกด้วยว่ากรณีปัญหาดังกล่าวนั้น เนื่องจากจุดอ่อนสำคัญในการทำ EIA และ EHIA ของไทยคือ ผู้ว่าจ้างให้ทำ EIA และ EHIA คือเจ้าของโครงการ ซึ่งแน่นอนว่าเขาต้องพยายามให้ผลการศึกษาสิ่งแวดล้อมผ่าน ขณะที่บริษัทที่รับจ้างทำการศึกษาก็ต้องการเงินจากเจ้าของโครงการ ถ้าผลการศึกษาไม่ผ่านเจ้าของโครงการก็ไม่จ่ายเงิน ดังนั้นบริษัทที่รับจ้างก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ผลการศึกษาผ่าน จึงมีการมั่วข้อมูล อะไรที่เป็นปัญหาก็ไม่ใส่ไว้ในรายงาน

“การทำ EIA และ EHIA ของไทยจึงเป็นแค่ใบเบิกทางให้สามารถดำเนินโครงการได้เท่านั้น จึงไม่แปลกที่โครงการเหล่านี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่นี้ แทบจะไม่มีอะไรแตกต่างจากกฎหมายเดิม อีกทั้งยังมีมาตรา 53 วรรค 4 ที่เปิดช่องให้สามารถดำเนินโครงการไปก่อนได้ในระหว่างที่รอผลพิจารณา EIA และ EHIA ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดไฟเขียวให้เดินหน้าทำโครงการทั้งที่ยังไม่ผ่านการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม”

นายประสิทธิชัย ย้ำว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ฉบับใหม่ ถือว่าเลวร้ายกว่ากฎหมายเดิมซึ่งมีช่องโหว่อยู่แล้ว หากปล่อยให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้โดยไม่มีการแก้ไขในประเด็นที่กลุ่มเครือข่ายฯเสนอไป ก็ไม่ต้องคิดเลยว่าความสูญเสียจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ประชาชนจะได้รับในอนาคตข้างหน้าจะมากมายและร้ายกาจกว่าที่เคยเกิดขึ้นจากโครงการที่ผ่านๆ มาขนาดไหน ดังนั้นถ้าจำเป็นต้องชุมนุมยืดเยื้อก็จะปักหลักสู้กันถึงที่สุด!


นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล หนึ่งในแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน