หยุดทำร้ายมหาสมุทร ไทยผลักดัน "อาเซียน" ลดขยะทะเล (14 พ.ย. 60)

Thai PBS 14 พฤศจิกายน 2560
หยุดทำร้ายมหาสมุทร ไทยผลักดัน "อาเซียน" ลดขยะทะเล

ขยะทะเลในประเทศไทยพุ่งเป็นอันดับ 6 ของโลก ถุงพลาสติกมากที่สุด เตรียมศึกษาวิจัยไมโครพลาสติกหวั่นเกิดผลกระทบวงกว้าง พร้อมเร่งสำรวจตัวเลขตลาด ร้านค้าและบ้านเรือนรอบชายฝั่ง 23 จังหวัดชายทะเล คาด 3 เดือนระบุจำนวนชัดเจน พร้อมประสานลดใช้ถุงพลาสติกและภาชนะพลาสติก

วันนี้ (14 พ.ย.2560) นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือทส.กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาขยะทะเลกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก ซึ่งสหประชาชาติให้ความสำคัญมาก โดยไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศ ที่ทิ้งขยะพลาสติกกลางทะเลมากที่สุดในโลก โดยประเทศจีนเป็นอันดับ 1 มีประมาณขยะพลาสติกในทะเลร้อยละ 8.2 อินโดนีเซียอันดับ 2 ร้อยละ 3.22 ฟิลิปปินส์อันดับ 3 ร้อยละ 1.88  เวียดนามอันดับ 4  ร้อยละ 1.88 ศรีลังกาอันดับ 5  ร้อยละ 1.59 ไทย อันดับ 6 ร้อยละ 1.03 อียิปต์อันดับ 7 ร้อยละ 0.97 มาเลเซียอันดับ 8 ร้อยละ 0.94 ไนจีเรียอันดับ 9 ร้อยละ 0.83 และอันดับ 10 คือประเทศบังกลาเทศ ร้อยละ 0.79

“สำหรับกรณีที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 6 เรื่องปัญหาขยะพลาสติกในทะเลนั้น ไม่ใช่ไทยไม่ยอมรับการจัดอันดับ ยังมีความสงสัยในรูปแบบของการประเมินอยู่พอสมควร และไม่คิดว่าไทยจะติดในลำดับต้นๆของโลก แต่น่าจะอยู่ลำดับที่ 12 แต่ก็ไม่ติดใจ เพราะขณะนี้ไทยมีมาตรการในระดับประเทศหลายโครงการที่จะพยายามลดขยะจากบนบก และขยะทะเล ”
นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดันให้ประเทศในอาเซียน ที่ส่วนใหญ่ก็มีปัญหาขยะในทะเลร่วมกัน เนื่องจากมีพื้นที่เชื่อมต่อกัน โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เตรียมจัดประชุมเพื่อหารือ และแสดงความคิดเห็นเชิงนโยบาย แผนการจัดการขยะของภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก แลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีจัดการขยะทะเล เพื่อลดปัญหาขยะทะเลในระดับภูมิภาคอาเซียนและระดับโลก ในระหว่างวันที่ 22 -23 พ.ย.นี้ โดยเฉพาะจีน ที่มีปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอันดับแรก ส่วนสิงคโปร์ มาเลเซีย จะมีเทคโนโลยีและมาตรการจัดการขยะที่ดีก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนกัน 

ปัญหาขยะเกิดขึ้นในประเทศหนึ่ง ก็สามารถไปได้ทั่วโลก ดังนั้นการประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีจัดการขยะทะเลของแต่ละประเทศในอาเซียนจึงมีความสำคัญในการนำมาเป็นแนวทางลดปัญหาขยะทะเลในไทยได้ 

“ขณะนี้ประเทศไทยมีปริมาณขยะทะเลที่เกิดในพื้นที่ 23 จังหวัดชายทะเลรวม 10.7 ล้านตันต่อวัน ทั้งนี้จากการสำรวจขยะชายหาดในปี 2552 - 2558 พบว่าถุงพลาสติกยังเป็นขยะทะเลในไทยที่น่ากังวลที่สุด โดยมีปริมาณร้อยละ 16 รองลงมาคือ ฝาหรือจุก ร้อยละ 10 เชือกร้อยละ 8 หลอดร้อยละ 7   กระดาษ ร้อยละ 6 บุหรี่ร้อยละ 5  ขวดแก้วร้อยละ 5 จาน ช้อน มีด ร้อยละ 4 ภาชนะบรรจุอาหารร้อยละ 4 และขยะอื่น ๆ ร้อยละ 35 นายวิจารย์ ระบุ ”
ทั้งนี้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมีการทำวิจัยเกี่ยวกับขยะพลาสติกที่เมื่อย่อยสลายแล้วจะกลายเป็นไมโครพลาสติกในทะเล โดยเจ้าหน้าที่สามารถวัดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลได้จากความเข้มข้นของไมโครพลาสติก ซึ่งทะเลในเอเชียแปซิฟิกมีค่าความเข้มข้นสูงกว่าภูมิภาคอื่น และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ 

โดยไมโครพลาสติกนี้มีลักษณะเหมือนแพลงก์ตอน เมื่อสัตว์น้ำกินเข้าไปไมโครพลาสติกจะไปฝังตัวอยู่ในเนื้อเยื่อของสัตว์น้ำ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาและหาผลกระทบอย่างชัดเจนต่อไป

3 เดือนเล็งสำรวจร้านค้าตลาดสดริมทะเล-ลดขยะต้นทาง

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ขณะนี้ทช.มีโครงการแก้ปัญหาขยะในทะเลที่เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น ชายหาด 24 แห่งปลอดบุหรี่ ซึ่งจากการลงพื้นที่ที่จ.สุราษฎร์ธานี พบว่านักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังโครงการลดขยะบนเกาะไข่ จ.พังงา และโครงการประชารัฐขจัดขยะทะเล ด้วยการพายเรือคายัค และอ่าวพังงาโมเดล

และที่กำลังเพิ่มเริ่มใหม่คือการสำรวจตลาด ร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนรอบชายฝั่งใน 23 จังหวัดชายทะเล คาดว่าไม่เกิน 3 เดือน จะสามารถสรุปได้ว่าในแต่ละพื้นที่มีจำนวนตลาดร้านค้า และบ้านเรือนประชาชนกี่แห่ง เพื่อขอความร่วมมือประชาชนและร้านค้าลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนภาชนะใส่อาหารเพื่อลดปริมาณขยะให้น้อยลงที่สุด เพราะขยะทะเลร้อยละ 80 จะมาจากขยะบนชายฝั่งที่จัดการไม่ถูกวิธีและมีเป้าหมายลดขยะให้ได้ร้อยละ 5 ตามมติครม. เมื่อปี 59 ซึ่งได้มีการดำเนินการไปบางส่วนแล้ว

อธิบดีทช. กล่าวต่อว่า  ทช.เป็นเหมือนเทศบาลทะเล ที่ต้องเข้าไปจัดการขยะที่ไม่มีใครดูแล แล้วประสานไปยังหน่วยงานท้องถิ่นให้เข้าไปดูแลและจัดการอย่างเป็นระบบ หากมีระบบบริหารจัดการที่ดี ลดขยะได้ตั้งแต่ต้นทาง จัดการขยะปลายทางอย่างถูกวิธี มั่นใจว่าจะลดปัญหาขยะในทะเลได้ แต่ทั้งหมดต้องอาศัยเครือข่ายประชาชนทุกคนในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี