ชาวสกลฯ ร่อนแถลงการณ์ค้านยุทธศาสตร์แร่ ซัดภัยร้ายแรงต่อสิทธิชุมชน - ความเป็นมนุษย์ (18 พ.ย. 60)

Green News TV 18 พฤศจิกายน 2560
ชาวสกลฯ ร่อนแถลงการณ์ค้านยุทธศาสตร์แร่ ซัดภัยร้ายแรงต่อสิทธิชุมชน – ความเป็นมนุษย์ 

ภาคประชาชน จ.สกลนคร ออกแถลงการณ์คัดค้านกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 ชี้ผิดต่อเจตนารมย์กฎหมายตามมาตรา 77

กลุ่มรักษ์ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และภาคีเครือข่ายฯ ออกแถลงการณ์ประกาศเจตนารมย์ และข้อเรียกร้องต่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2560 ภายหลังกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดการประชุมเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 โดยระบุว่าร่างยุทธศาตร์ฯ และแผนแม่บทฯ เป็นภัยอันตรายร้ายแรงต่อสิทธิความเป็นมนุษย์ สิทธิชุมชน และเป็นภัยต่อความสงบสุขปรองดองของประชาชน

ตอนหนึ่งของแถลงการณ์เรื่อง การรับฟังแต่ไม่ได้ยินของร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 เมื่อวันที่ 14-15 พ.ย. 2560 ระบุว่า ทางภาคีเครือข่ายฯ ได้ติดตามโครงการสำแร่ในพื้นที่ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร พร้อมทั้งติดตามการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี และแผนแม่บทการจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 ของภาครัฐตลอดมา มีความเห็นว่าทั้งหมดไม่ได้รักษาสิ่งแวดล้อมตามเจตนารมย์ของกฎหมาย

แถลงการณ์ของเครือข่ายฯ ระบุถึงข้อกังวลต่อสาระสำคัญในร่างยุทธศาสตร์ ใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม เพราะอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่รัฐส่วนกลาง ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ถึงแม้จะมีการรับฟังความคิดเห็นแต่ก็อยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้ง เพราะเป็นกระบวนการปาหี่ที่มีคำสั่งเตรียมผลของมติไว้แล้ว

2.กระบวนการยกร่างร่างยุทธศาสตร์ฯ ฉบับนี้เป็นเพียงการเล่นคำตกแต่งให้สวยหรู ทั้งมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน เศรษฐกิจพอเพียง ธรรมมาภิบาล แต่ในร่างฯ นั้นกลับตรงข้ามทั้งหมดที่กล่าวมา ซึ่งพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ยืนอยู่บนข้อเท็จจริงที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นหลักสันติวิธี ความขัดแย้ง หลักคุณธรรม จริยธรรม ความถูกต้องชอบธรรม นิติธรรม ความโปร่งใส ความรับผิดชอบ ความมีส่วนร่วม และความคุ้มค่า

3.กระบวนการร่างฯ ฉบับนี้ตัดสินใจใช้กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทั้งยังผิดต่อเจตนารมย์ของกฎหมายอย่างแท้จริง ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

แถลงการณ์ระบุอีกว่า กระบวนการเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ประชาชน ชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แต่กลับเป็นภัยอันตรายร้ายแรงต่อสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ สิทธิชุมชน ความสงบสุขปรองดองของภาคประชาชน สุ่มเสี่ยงให้เกิดความล้มสลายของนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีวัฒนธรรมของมนุษย์และสังคม

“เราจึงขอประกาศให้ พื้นที่ จ.สกลนคร และทุกพื้นที่ที่มีการพัฒนารองรับการทำอุตสาหกรรม ตามร่างยุทธศาสตร์ฯ และแผนแม่บทฯ นี้ อยู่นอกเขตการบังคับใช้ยุทธศาสตร์ฯ และ แผนแม่บทฯ นี้ ที่คาดว่าจะผ่านและเห็นชอบฯ ตามที่มีผลมติสั่งไว้แล้ว” แถลงการณ์ระบุ