นักวิจัยพบ "ขยะพลาสติก" จมถึงก้นมหาสมุทร สัตว์ทะเลลึกหนีไม่พ้นภัยคุกคามจากมลพิษ (18 พ.ย. 60)
Green NewS TV 18 พฤศจิกายน 2560
นักวิจัยพบ ‘ขยะพลาสติก’ จมถึงก้นมหาสมุทร สัตว์ทะเลลึกหนีไม่พ้นภัยคุกคามจากมลพิษ
ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ค้นพบว่า ขยะพลาสติกได้กระจายไปถึงก้นทะเล แม้แต่สัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทร ยังมีเศษชิ้นส่วนพลาสติกอยู่ในท้อง
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.อลัน เจมิสัน หัวหน้าทีมศึกษาของมหาวิทยาลัยดังกล่าว ได้ออกมาเปิดเผยว่า คณะวิจัยของเขาได้พบชิ้นส่วนพลาสติกที่เกิดจากขวดน้ำ บรรจุภัณฑ์ และใยสังเคราะห์ของเสื้อผ้ามนุษย์ในกระเพาะอาหารของสิ่งมีชีวิตหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในบริเวณก้นมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถือเป็นจุดที่มีความลึกที่สุดในโลก พร้อมระบุว่า การค้นพบนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า ขณะนี้ไม่มีส่วนใดในมหาสมุทรที่ปลอดภัยหรือยังไม่ได้รับผลกระทบจากมลพิษที่มนุษย์ก่อขึ้น
“ผลกระทบของมลพิษที่เกิดจากพลาสติกในเวลานี้มาถึงจุดที่ไม่ว่าสิ่งมีชีวิตใด อาศัยอยู่ที่ไหน หรืออยู่ห่างไกลเพียงใด ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกแล้ว” ดร.เจมิสัน กล่าว
ดร.เจมิสัน เปิดเผยอีกว่า ทีมสำรวจของเขาได้ค้นพบชิ้นส่วนและอนุภาคขนาดเล็กของพลาสติกลึกลงไปในทะเลถึง 11 กิโลเมตร โดยพื้นที่ที่ทำการสำรวจนั้นครอบคลุมหลุมที่ได้ชื่อว่ามีความลึกที่สุดในโลกหลายหลุม ทั้งหลุมมารีน่า หลุมญี่ปุ่น หลุมอีซุ-โบนิน หลุมเปรู-ชิลี และหลุมเฮอเบอดีส รวมถึงจุดที่เรียกกันว่าชาเลนเจอร์ ที่อยู่ในหลุมมารีน่า ซึ่งเป็นจุดที่ลึกที่สุดในโลก
ทีมวิจัยของเขาได้ตรวจสอบสัตว์น้ำในจุดต่างๆ เหล่านั้นกว่า 90 ชนิด และพบว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของสัตว์น้ำที่พบในหลุมเฮอเบอดีส มีชิ้นส่วนพลาสติกอยู่ในระบบย่อยอาหาร ขณะที่สัตว์ที่อยู่ในหลุมมารีน่าพบว่ามีเศษพลาสติกในท้องของพวกมันทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเศษชิ้นส่วนที่พบเป็นเส้นใยพลาสติกขนาดเล็กที่เกิดจากผลิตภัณฑ์จำพวกสิ่งทอ ขวดพลาสติก และเครื่องมือการทำประมง
“สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลลึกจะรอกินอาหารที่จมลงมาจากผิวน้ำ พวกมันต้องปรับตัวให้สามารถมีชีวิตอยู่รอดภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีอาหารน้อยขนาดนั้นได้ ดังนั้น สัตว์เหล่านี้จะกินทุกอย่างที่จมลงสู่เขตที่อยู่อาศัยของพวกมัน รวมถึงชิ้นส่วนพลาสติกขนาดเล็กด้วย การค้นพบของเราในครั้งนี้จึงถือเป็นเป็นเรื่องที่น่ากังวลทีเดียว” ดร.เจมิสัน กล่าว
ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้มีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่ระบุตรงกันว่า ผลกระทบของขยะพลาสติกที่มีต่อโลกได้ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่น มีการค้นพบว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของตัวอย่างน้ำประปาที่จัดเก็บจากทั่วโลกมีชิ้นส่วนพลาสติกเจือปนอยู่ รวมถึงมีการพบการปนเปื้อนของพลาสติกในปลาทะเลและเกลือทะเล
ทั้งนี้ มีการประเมินว่านับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 เป็นต้นมา มนุษย์ได้ผลิตพลาสติกออกสู่โลกใบนี้แล้วไม่น้อยกว่า 8.3 พันล้านตัน และเชื่อว่ามีพลาสติกไม่น้อยกว่า 300 ล้านตัน หรือ 5 ล้านล้านชิ้น ที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรทั่วโลกขณะนี้ โดยทุกๆ ปีจะมีพลาสติกอีกราว 8 ล้านตัน ถูกทิ้งเพิ่มในมหาสมุทร
‘’ขยะที่ถูกทิ้งในมหาสมุทรในท้ายที่สุดจะลอยกลับเข้าฝั่งหรือไม่ก็จมลงสู่ก้นทะเล ในกรณีที่จมสู่ก้นทะเลลึกมันจะค่อยๆ ทับถมกันจนมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พวกเราทุกคนจึงควรให้ความสำคัญกับปัญหานี้และลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วน’’ เขากล่าว