ท่อส่งน้ำมันคีย์สโตนในสหรัฐฯ รั่วไหล 2 แสนแกลลอน หวั่นปนเปื้อนแหล่งน้ำ (18 พ.ย. 60)

ประชาไท 18 พฤศจิกายน 2560
ท่อส่งน้ำมันคีย์สโตนในสหรัฐฯ รั่วไหล 2 แสนแกลลอน หวั่นปนเปื้อนแหล่งน้ำ


ท่อน้ำมันคีย์สโตนของบริษัท TransCanada (ที่มา: Flickr/Shannon Ramos)

ท่อส่งน้ำมันในเซาธ์ดาโกตาที่นักสิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองเคยประท้วงต่อต้านเกิดการรั่วไหลของน้ำมัน 200,000 แกลลอน ทำให้นักสิ่งแวดล้อมออกมาวิจารณ์การปล่อยปละละเลยของบริษัทที่ทำโครงการและชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรเปลี่ยนจากเชื้อเพลิงพลังงานซากดึกดำบรรพ์มาเป็นพลังงานหมุนเวียน

18 พ.ย. 2560 เกิดการรั่วไหลของน้ำมันมากกว่า 200,000 แกลลอนจากท่อส่งน้ำมันคีย์สโตนเอ็กซ์แอล เทศมณฑลมาร์แชลล์ เซาธ์ดาโกตา ซึ่งเป็นโครงการของบริษัท TransCanada เรื่องนี้เป็นไปตามที่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้น

มีการตั้งข้อสังเกตว่าทางบริษัทแถลงถึงเรื่องการรั่วไหลในครั้งนี้หลังจากที่เกิดเหตุรั่วไหลมาแล้วเป็นเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง การรั่วไหลเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 6.00 น. ของวันที่ 16 พ.ย. 2560 ตามเวลาในสหรัฐฯ แต่เจ้าหน้าที่ทางการก็บอกว่าพวกเขาได้รับแจ้งเรื่องนี้ในเวลา 10.30 น. ของวันนั้น กรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของเซาธ์ดาโกตากล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าพวกเขาไม่ทราบว่าทำไมถึงมีการทิ้งช่วงเวลาหลายชั่วโมงก่อนมีการแจ้งต่อหน่วยงาน

นอกจากแถลงการณ์ของบริษัทแล้ว ในตอนนี้ยังไม่มีการตรวจสอบจากภายนอกที่จะประเมินได้ว่าเกิดการรั่วไหลมีปริมาณมากเท่าใดและจะส่งผลเสียหายมากขนาดไหน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ทำให้กลุ่มคนที่เคยเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการท่อน้ำมันนี้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์บริษัทที่ดำเนินโครงการ

เบน ชไรเบอร์ นักยุทธศาสตร์การเมืองอาวุโสขององค์กรเฟรนด์ออฟดิเอิร์ธ (Friends of the Earth) วิจารณ์ว่าบริษัท TransCanada มีประวัติความปลอดภัยที่ไม่ดีนัก การรั่วไหลของท่อส่งน้ำมันในครั้งนี้มาจากการปล่อยปละละเลยของบริษัทเอง ชไรเบอร์ยังวิจารณ์การใช้เชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ไว้ว่ามันจะเป็นหายนะต่อสภาวะภูมิอากาศโลก จึงควรต้องมีการต่อต้านพวกจักรวรรดิเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้

เรเชล ไรย์ บัตเลอร์ จากกลุมกรีนพีซก็ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์รั่วไหลของท่อส่งน้ำมันในครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่วันก่อนมีการพิจารณาตัดสินใจว่าจะรับรองโครงการคีย์สโตนเอ็กซ์แอลในรัฐเนบราสกาหรือไม่ บัตเลอร์บอกว่าเหตุน้ำมันรั่วไหลในครั้งนี้น่าจะแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาควรต่อต้านท่อส่งน้ำมัน เพราะถ้าหากเกิดการรั่วไหลแล้วจะส่งผลกระทบต่อต่อแหล่งน้ำดื่ม ต่อคนในชุมชน และต่อสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งแผนการสร้างท่อส่งในเนบราสกาที่กำลังจะมีการพิจารณาในวันที่ 20 พ.ย. ก็ดำเนินการโดยบริษัท TransCanada เช่นกัน

เมย์ บูเวอร์ ผู้อำนวยการบริหารของ 350.org องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับประเด็นโลกร้อนกล่าวว่าการรั่วไหลในครั้งนี้เป็นเรื่องที่คาดเดาได้ถ้าหากมีการรับรองการสร้างท่อน้ำมันคีย์สโตนเอ็กซ์แอล ไม่ว่าบริษัทจะพูดอย่างไรก็ตามเธอเชื่อว่าเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์์ที่ปลอดภัยไม่มีอยู่จริง บูเวอร์บอกอีกว่าชนพื้นเมือง ชาวนา ชาวไร่ ในพื้นที่ตามแนวการวางท่อมีการประท้วงในเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว และพวกเขาก็พร้อมจะต่อต้านถ้าหากมีการอนุมัติอีกโครงการหนึ่งในเนบราสกาจากการตัดสินใจในวันที่ 20 พ.ย. ที่จะถึงนี้

สก็อตต์ พาร์กิน ผู้อำนวยการฝ่ายจัดตั้งของเครือข่ายปฏิบัติการเพื่อป่าฝนกล่าวด้วยความไม่พอใจว่า "พอกันที" เขาบอกว่าการรั่วไหลของท่อส่งน้ำมันไม่เกี่ยวกับว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ควรจะมีการหยุดยั้งการใช้เชื้อเพลิงพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์อย่างสุดโต่งเช่นนี้ เขายังเรียกร้องให้วงการการเงินเลิกให้ทุนสนับสนุนเชื้อเพลิงชนิดนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภัยพิบัติทางสภาพภูมิอากาศ ภัยต่อสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิของชนพื้นเมือง

เดวิด ฟลุต ประธานกลุ่มชนพื้นเมืองซิสเซตันวาห์เปตันโอเยทกล่าวว่าการรั่วไหลเกิดขึ้นในส่วนใกล้กับเขตอุทยานที่มีทะเลสาบที่สะอาดที่สุดในเซาธ์ดาโกตา รวมถึงชั้นหินอุ้มน้ำใต้ดิน เขากังวลว่าจะเกิดการปนเปื้อนไปสู่ระบบน้ำซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตของทุกคนได้

อย่างไรก็ตามไบรอัน วอลช์ เจ้าหน้าที่จากกรมสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของเซาธ์ดาโกตากล่าวว่าการรั่วไหลยังไม่ได้กระทบกับแหล่งน้ำบนดิน หมายความว่ายังไม่ได้ไหลไปตามแม่น้ำลำธาร วอลช์บอกอีกว่าเป็นไปได้ยากที่น้ำมันจะไหลลงไปถึงน้ำในชั้นหินที่อยู่ใต้ผืนโลกลงไป 800-900 ฟุต

โครงการท่อส่งน้ำมันดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของระบบท่อส่งน้ำมันคีย์สโตนที่มีแผนการขยายไปถึง 2,687 ไมล์ เคยมีการประท้วงและเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับโครงการนี้จนกระทั่งรัฐบาลบารัค โอบามา ยกเลิกโครงการนี้ไปในปี 2558 ก่อนที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ จะกลับมารับรองโครงการนี้ใหม่