อธิบดีกรม ทช. เตรียมเสนอแผนจัดการขยะทะเลระดับภูมิภาคอาเซียน ที่ภูเก็ต (17 พ.ย. 60)
MGR Online 17 พฤศจิกายน 2560
อธิบดีกรม ทช.เตรียมเสนอแผนจัดการขยะทะเลระดับภูมิภาคอาเซียน ที่ภูเก็ต
ประจวบคีรีขันธ์ - กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) เตรียมประชุมเสนอแผนจัดการขยะในทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน ระหว่างวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 60 ที่ที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อหาแนวทางลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีเป็นจำนวนมากในทะเล หลังจากประเทศไทยถูกจัดเป็นอันดับ 6 ที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก โดยมีเป้าหมายลดขยะเป้าหมายพลาสติกในทะเลให้ได้ 0.08-0.16 ล้านตันต่อปี
วันนี้ (17 พ.ย.) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวถึงปัญหาขยะที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งที่หาดหัวหิน-หาดวนอุทยานปราณบุรี-หาดสามร้อยอด และอีกหลายพื้นที่ชายฝั่งทะเล ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ซึ่งจากข้อมูลผลงานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2558 โดยใช้ข้อมูลปี 2553 ของ 192 ประเทศ บ่งชี้ว่าประเทศไทยถูกจัดอยู่ในลำดับ 6 ที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก ทำให้ประเทศเรายังมีขยะอยู่ในทะเลเป็นปริมาณมาก สะท้อน ว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการจัดการปัญหาขยะในทะเล
ต้องยอมรับว่าปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม การดำเนินชีวิตของมนุษย์ และได้ก่อให้เกิดผลกระทบทำให้สภาพของทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อห่วงโซ่อาหารอันมีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่ง เพราะขยะที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ท้ายที่สุดแล้วก็จะไหลลงสู่ทะเล จึงทำให้ในทะเลมีขยะจำนวนมากที่ส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำทะเลและสิ่งแวดล้อมในทะเล
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวอีกว่าจากปัญหาขยะที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยต้องพยามหาวิธีการลดปริมาณขยะลงให้มาที่สุด ต้องยอมรับว่าขยะในทะเลพลาสติกก็คือว่าเป็นพบเป็นปริมาณที่มาก ซึ่งในวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2560 นี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทช.) จัดให้มีการประชุมระดับอาเซียนเรื่องการลดปริมาณขยะทะเลในกลุ่มประเทศอาเซียนและจีน ขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต
ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.)ก็มีแผนแม่บทการบริหารขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 ที่ได้จัดทำมาตรการเพื่อจัดการขยะทะเล 5 ด้าน การศึกษาชนิด ปริมาณแหล่งที่มา และจัดทำฐานข้อมูล การลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อระบบนิเวศที่สำคัญ การลดปริมาณขยะทะเลตามหลักวิชาการ ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการสร้างจิตสำนึกในการลดขยะในทะเล ด้วยการเริ่มลดปริมาณขยะทะเล โดเฉพาะขยะทะเลพลาสติกในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล เกาะ
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำพื้นที่ต้นแบบในการห้ามใช้ขยะพลาสติก โดยให้ใช้วัสดุอื่นทดแทน ซึ่งมีเป้าหมายลดขยะเป้าหมายพลาสติกในทะเลให้ได้ 0.08-0.16 ล้านตันต่อปี
ในวาระสำคัญ ซึ่งทางทช.ต้องผลักดันคือให้ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ที่มีปัญหาขยะในทะเล ร่วมกันและมีพื้นที่เชื่อมต่อกันคือทำแผนการจัดการขยะของของภูมิภาคอาเซียนระดับโลก รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์และวิธีการจัดการขยะทะเล เพื่อลดปัญหา โดยเฉพาะจีนที่มีปัญหาขยะพลาสติกในทะเลอันดับแรก ส่วนสิงค์โปร์ มาเลเซียจะมีเทคโนโลยีและมาตรการจัดการขยะที่ดีก็จะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันหารือถึงมาตรการความร่วมมือในการจัดการลดปัญหาขยะในทะเลในระดับอาเซียน ที่ลอยเคลื่อนที่ไปมาในหลายประเทศทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ฯลฯ
โดยช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขยะที่มาเกยหาดหัวหิน-หาดปราณบุรี ก็ไม่ใช่ขยะในพื้นที่แต่มาจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งพบว่าขยะที่พบในทะเลเกิดจากบนบก 80 เปอร์เซ็นต์ และที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ขยะในทะเล ซึ่งในการประชุมครั้งนี้จะต้องหามาตรการที่จะลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง อย่างไรก็ตามในส่วนของต้นทางต้องสร้างจิตสำนึก รณรงค์ให้ทุกคน ควรจัดการขยะตั้งแต่ครัวเรือน การคัดแยกขยะประเภทต่างๆ และสิ่งสำคัญต้องทิ้งขยะอย่างถูกวิธี ส่วนกลางทางก็หารือร่วมกับท้อถิ่นทั้ง เทศบาล อบต. ถึงแนวทางที่จะต้องช่วยการลดปริมาณขยะ ก่อนที่ปริมาณขยะจะถูกทิ้งลงสู่แม่น้ำและไหลลงสู่ทะเลและก็กลับขึ้นมาที่ชายหาด
ซึ่งในวันประชุมระดับอาเซียนจะต้องมีมาตรการด้านต่างๆออกมา รวมทั้งการออกกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วที่ต้อการลดปริมาณขยะทั้งต้นทาง-ปลายทางลงให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายลดขยะเป้าหมายพลาสติกในทะเลให้ได้ 0.08-0.16 ล้านตันต่อปี เพื่อไม่ให้ลงไปสู่ทะเลกลายเป็นปัญหาและส่งผลกระทบ ซึ่งต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นให้มากขึ้นเรื่องการแก้ปัญหาขยะ หากไม่รีบดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง