ชาวบ้านเดือดร้อนน้่ำเน่าเสีย ส่งผลปลา-กุ้งตายนับหมื่นตัว (17 พ.ย. 60)

TV8 17 พฤศจิกายน 2560
ชาวบ้านเดือดร้อนน้่ำเน่าเสีย ส่งผลปลา-กุ้งตายนับหมื่นตัว 

ชาวบ้านในอำเภอละแม จังหวัดชุมพร เร่งจับปลาตาย ขึ้นจากน้ำ หลังน้ำในคลองแห่งหนึ่งเน่าเสีย ทำให้ปลาและกุ้งตายนับหมื่น หน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่ง ตรวจสอบ

ที่คลองบ้านดวด หมู่ที่ 2 ตำบลสวนแตง อำเภอละแม จังหวัดชุมพร นายเที่ยงธรรม ทุ่มเท ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 พร้อมชาวบ้านจำนวนหนึ่ง ตรวจสอบสภาพน้ำเน่าเสียในคลองบ้านดวด หลังจากเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุปลาหลายชนิด รวมทั้งกุ้งก้ามกราม นับหมื่นตัวลอยตายขึ้นมาจากคลองบ้านดวด สร้างความกังวลแก่ชาวบ้านอย่างมาก

ชาวบ้านจึงช่วยกันจับปลาและกุ้งที่ตาย ขึ้นจากน้ำ นำไปหมักในถัง เพื่อทำปุ๋ยหมัก พร้อมแจ้งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้เข้าตรวจสอบ

เบื้องต้น พบว่า ปลาหลากหลายชนิดที่เป็นปลาพื้นบ้าน และปลาที่ประมงอำเภอ เคยปล่อยลงสู่คลองบ้านดวด เมื่อประมาณ 1 ปี ที่ผ่านมา รวมทั้งกุ้งก้ามกรามขนาดใหญ่กว่า 1 ฟุต ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ตามธรรมชาติในคลอง ตลอดจนปลายี่สกขนาดใหญ่ น้ำหนักกว่า 2 กิโลกรัม ตายเป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าหลายหมื่นบาท ขณะเดียวกัน ก็ยังมีปลาทยอยตายอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ภายในน้ำ พบคราบน้ำมันปาล์มลอยอยู่เต็มผิวน้ำ ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง คาดว่า คราบน้ำมันปาล์มเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุ ทำให้น้ำเน่าเสีย และปลาตาย

ชาวบ้าน บอกด้วยว่า น้ำในคลองบ้านดวด เน่าเสียมาตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน บางปีน้ำเน่าเสียนานหลายสัปดาห์ ทำให้สัตว์น้ำลอยตายจำนวนมาก จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการกับผู้ที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียให้เด็ดขาด ซึ่งชาวบ้าน คาดว่า โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และบ่อขยะของ อบต.แห่งหนึ่ง อาจเป็นต้นเหตุ

ด้านนายสุพัชรพงศ์ วรประดิษฐ์ นายอำเภอละแม และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ระดมชาวบ้านและจิตอาสา นำอีเอ็มบอล และสารเคมีจำนวนมาก โรยลงในคลองบ้านดวด บริเวณวัดบ้านดวด และโรงเรียนวัดดวด ซึ่งเป็นจุดที่น้ำเน่าเสียมากที่สุด

พร้อมประสานงานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร ขอให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ ต่อมา นาย วัชรพล สมนาค วิศวกรปฏิบัติการ สำนักงานอุตสาหกรรมชุมพร ได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพน้ำ สามารถวัดระดับค่าออกซิเจนในน้ำต่ำมาก และ กำลังเข้าขั้นอันตราย จึงต้องเฝ้าระวังและอาจมีจุดอื่นในคลอง ที่ต้องสุ่มวัดระดับค่าออกซิเจนต่อไปด้วย