รัฐผนึกเอกชนวางระบบเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ "โลตัส" เปิดจุดรับทิ้ง - "dtac" ช่วยจัดส่งรีไซเคิล (16 พ.ย. 60)
Green News TV 16 พฤศจิกายน 2560
รัฐผนึกเอกชนวางระบบเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ ‘โลตัส’ เปิดจุดรับทิ้ง – ‘dtac’ ช่วยจัดส่งรีไซเคิล
กทม.-คพ. ผนึกภาคเอกชนวางระบบจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ จากจุดรับทิ้งสู่กระบวนการรีไซเคิล ‘dtac’ ระบุ ปี 2559 ส่งซากมือถือกำจัดกว่า 3.8 แสนเครื่อง ลดก๊าซฯ 4.8 ตัน
นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายรัฐสัมพันธ์ เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า เทสโก้ โลตัส ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมและการลดปริมาณขยะ โดยหนึ่งในนั้นคือการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยล่าสุดได้ร่วมมือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (dtac) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพื่อสร้างระบบเก็บรวบรวบขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ นำไปสู่การรีไซเคิลอย่างถูกวิธี
นายสุรเกียรติ กล่าวว่าความร่วมมือดังกล่าวเป็นการบูรณาการระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยเทสโก้ โลตัส ในฐานะช่องทางของผู้จัดจำหน่ายและธุรกิจค้าปลีกที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน จะมอบพื้นที่ตั้งกล่องรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ dtac จะเป็นผู้ร่วมจัดเก็บและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยประชาชนสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ แบตเตอรี่ โทรศัพท์มือถือเสื่อมสภาพ รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆ มาบริจาคผ่านจุดรวบรวมเหล่านี้ได้
นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน dtac กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา dtac มีความมุ่งมั่นในการณรงค์ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคัดแยกขยะ ไม่ทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพกับขยะทั่วไปเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผ่านโครงการ Think Smart (ทิ้งสมาร์ท) โดยขยะเหล่านั้นจะถูกส่งไปจัดเก็บและรีไซเคิลยังบริษัท เทส-แอม ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แห่งเดียวในเอเชีย
นางอรอุมา กล่าวว่า ในปี 2559 dtac สามารถจัดเก็บโทรศัพท์มือถือได้จำนวนกว่า 3.8 แสนเครื่อง สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมได้ถึง 4.8 ตัน หรือเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 1 สระ
สำหรับปี 2560 dtac ตั้งเป้าในการหาพันธมิตรเพื่อขยายจุดทิ้งโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพ ซึ่งเบื้องต้นประชาชนสามารถนำมาทิ้งได้ที่กล่องรับ ณ เทสโก้ โลตัส 6 สาขาใน กทม. ประกอบด้วย บางแค พระราม 4 บางนา ลาดพร้าว บางกะปิ และสุขาภิบาล 1 รวมถึงดีแทคฮอลล์อีก 49 สาขาทั่วประเทศ
“การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของ dtac เพื่อช่วยในการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความหลักความโปร่งใสและเป็นธรรม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Empower societies” นางอรอุมา กล่าว
นายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดการการของเสียและสารอันตราย คพ. กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นขยะอันตรายที่กำลังสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี และเพื่อให้การดำเนินงานแก้ปัญหาการจัดการของเสียอันตรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คพ. และ กทม.จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน เช่นเดียวกับความร่วมมือของเทสโก้ โลตัส และดีแทคครั้งนี้