ปลาช่อน!! อาการหนัก มูลนิธิบูรณะนิเวศ พบปลามาบตาพุด -8 พื้นที่อุตสาหกรรม สารปรอทสูงเกินมาตรฐาน (18 ก.ย. 60)

มติชนออนไลน์ 18 กันยายน 2560
ปลาช่อน!! อาการหนัก มูลนิธิบูรณะนิเวศ พบปลามาบตาพุด -8 พื้นที่อุตสาหกรรม สารปรอทสูงเกินมาตรฐาน


(ภาพประกอบ)

มูลนิธิบูรณะนิเวศ พบ ปลามาบตาพุด-8 พื้นที่อุตสาหกรรมสารปรอทสูงเกินมาตรฐาน ปลาช่อนหนักสุด ชี้ เสี่ยงอันตราย สมอง ไต

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิบูรณะนิเวศได้แถลงผลการศึกษาทางวิชาการเรื่อง “การปนเปื้อนสารปรอทในปลาและร่างกายมนุษย์ในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของประเทศไทย ปี 2559-2560” ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันของ เครือข่ายระหว่างประเทศเพื่อกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม สมาคมอาร์นิกา องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมจากประเทศสาธารณรัฐเช็ก และมูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยแบ่งออกเป็นการศึกษาปริมาณสารปรอทในเส้นผมของสตรีวัยเจริญพันธุ์ และสารปรอทในสัตว์น้ำในพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การศึกษาปริมาณสารปรอทในเส้นผมสตรีวัยเจริญพันธุ์ คณะผู้ศึกษาได้ทำการเก็บตัวอย่างเส้นผมอาสาสมัคร ซึ่งเป็นผู้หญิงที่มีอายุในระหว่าง 18-44 ปี 68 คนจาก 2 พื้นที่ คือ รอบเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง 34 คน และพื้นที่ เขตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี 34 คน ก่อนนำไปตรวจวิเคราะห์ระดับสารปรอทในห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ สหรัฐอเมริกา

นส.อัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ตัวอย่างเส้นผมของผู้หญิง 50 จาก 68 คน หรือประมาณร้อยละ 73.5 ของอาสาสมัครทั้งหมด มีสารปรอทสูงเกิน 1 ppm ซึ่งเกินเกณฑ์อ้างอิงสำหรับสารปรอทในเส้นผม ของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา (USEPA) ชี้ว่ามีความเสี่ยงที่สารปรอทจะส่งผลต่อสมองและอาจทำให้ระดับสติปัญญาลดลง รวมถึงอาจก่ออันตรายต่อไตและหัวใจ ขณะเดียวกันก็พบว่า ตัวอย่างเส้นผมของผู้หญิงจำนวน 67 จาก 68 คน หรือประมาณร้อยละ 98.5 ของอาสาสมัครทั้งหมด มีสารปรอทสูงเกิน 0.58 ppm ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้นที่นักวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่า หากผู้หญิงตั้งครรภ์มีสารปรอทสูงเกินกว่านี้จะทำให้ระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ผิดปกติได้ “ในแง่หนึ่ง ผลการศึกษาครั้งนี้ก็อาจสะท้อนได้ว่า ผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งมีโรงไฟฟ้าที่ปลดปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อม มีความเสี่ยงทางสุขภาพสูงกว่าคนทั่วไป และความเสี่ยงนี้ยังรวมไปถึงทารกในครรภ์ของพวกเธอด้วย” นส.อัฏฐพร กล่าว

นายอัครพล ตีบไธสง นักวิชาการจากมูลนิธิบูรณะนิเวศ การศึกษาสารปรอทในสัตว์น้ำ พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 8 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ระยอง ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา เลย ขอนแก่น คณะผู้ศึกษาได้ทำการเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาน้ำจืด ปลาทะเล และหอย จำนวน 39 ตัวอย่าง พบว่า ปลาทะเล 2 ใน 14 ตัวอย่างมีสารปรอทเกินเกณฑ์มาตรฐานปลาทะเลและอาหารทะเลของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ที่กำหนดให้มีสารปรอทปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.5 ppm ส่วนปลาน้ำจืด 18 ใน 25 ตัวอย่าง พบสารปรอทสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานอาหารของสธ. ที่กำหนดให้มีสารปรอทได้ไม่เกิน 0.02 ppm ” ระดับสารปรอท ที่พบในปลาแตกต่างกันไปตามชนิดของปลาและพื้นที่ของแหล่งที่สารปรอทปนเปื้อน ปลากินเนื้อขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะพบปรอทสูงกว่าปลากินพืช เช่น ปลาช่อน มีปรอทโดยเฉลี่ย 0.257 ppm โดยร้อยละ 82 ของตัวอย่างปลาช่อน พบปรอทสูงเกินเกณฑ์มาตรฐานฯ นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า สัตว์น้ำจากพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ห่างเขตพัฒนาอุตสาหกรรม 2 แห่ง ได้แก่ จ.จันทบุรีและปราจีนบุรี ก็มีการปนเปื้อนสารปรอทในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ”นายอัครพล กล่าว

นายอัครพล กล่าวว่า การศึกษาครั้งนี้ ยังพบด้วยว่า ปลาจากพื้นที่ธรรมชาติที่อยู่ห่างเขตพัฒนาอุตสาหกรรม 2 แห่ง คือเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง จ.จันทบุรี ก็มีการปนเปื้อนสารปรอทในระดับสูง ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ว่า พื้นที่เหล่านี้อาจได้รับผลกระทบจากการแพร่กระจายของสารปรอท ซึ่งเป็นสารอันตรายที่สามารถเดินทางได้ไกลในชั้นบรรยากาศ และหากสมมุติฐานนี้เป็นจริง คือได้เกิดแพร่กระจายออกไปไกลลักษณะนี้แล้ว ก็แปลว่าขอบเขตความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนก็ขยับตามออกไปด้วย

นส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า สารปรอทเป็นสารอันตรายที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ไกลในชั้นบรรยากาศ สามารถตกค้างได้ยาวนานในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารปรอทที่ปลดปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ตั้งแต่การขุดเจาะ การกลั่นน้ำมัน และการแยกก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ การรีไซเคิลของเสีย และอื่นๆ สารปรอทสามารถสะสมในสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ และถ่ายทอด-เพิ่มความเข้มข้นได้ตามลำดับชั้นของห่วงโซ่อาหาร สารปรอทจึงมีอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอันตรายต่อระบบประสาทและการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์และเด็กเล็ก