ชาวบ้านหนองแต้นำสำรวจ "ป่าชุมชนบ้านดง" พิสูจน์ "แห้งแล้ง – เสื่อมโทรม" จริงหรือ? (12 ก.ย. 60)
กองบรรณาธิการมูลนิธิบูรณะนิเวศ 12 กันยายน 2560
ชาวบ้านหนองแต้นำสำรวจ "ป่าชุมชนบ้านดง" พิสูจน์ "แห้งแล้ง – เสื่อมโทรม" จริงหรือ?
ชาวบ้านหนองแต้นำสื่อมวลชนลุยสำรวจ "ป่าชุมชนบ้านดง" - "ที่สาธารณะห้วยเม็ก" พิสูจน์ "แห้งแล้ง – เสื่อมโทรม" จริงดังอ้างหรือไม่ พบไม้ยืนต้นจำนวนมาก บางส่วนถูกลักลอบขุดล้อมคล้ายจะนำไปขาย – ยันไม่เคยมีประชาพิจารณ์ และหากรัฐจะยกให้ "กระทิงแดง" ใช้ที่ป่าก็พร้อมคัดค้าน
12 กันยายน 2560 – ตัวแทนประชาชนในพื้นที่บ้านหนองแต้ ม.6 ต.บ้านดง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น พร้อมด้วย "อาสาสมัครเฝ้าระวังมลพิษ อ.น้ำพอง และ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น" ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านหนองแต้ ได้นำสื่อมวลชนเข้าสำรวจ “ที่สาธารณะห้วยเม็ก” ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริษัททีซี ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มกระทิงแดง และโรงงานกระทิงแดง จ.ขอนแก่น ซึ่งก่อนหน้านี้สื่อมวลชนหลายแขนงได้นำเสนอข่าวว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้ลงนามอนุมัติให้ บริษัทเคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งมีทายาทเจ้าของกิจการ “กระทิงแดง” เป็นเจ้าของและผู้บริหาร ใช้ที่สาธารณะดังกล่าว เป็นเนื้อที่รวมประมาณ 31 ไร่ 2 งาน เพื่อใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำสำหรับโรงงานน้ำดื่ม โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งให้ความสนใจติดตามไปสังเกตการณ์
จากการสำรวจพบว่า ป่าในพื้นที่ยังคงมีสภาพดี และมีไม้ยืนต้นขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ได้มีสภาพเสื่อมโทรมหรือแห้งแล้งแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังพบว่า ไม้ใหญ่บางส่วนได้ถูกลักลอบขุดล้อมคล้ายจะนำออกไปจำหน่าย และมีบางส่วนที่คาดว่าถูกนำออกนอกพื้นที่ไปแล้ว เหลือเพียงหลุมขนาดใหญ่ รวมทั้งพบพื้นที่ป่าบางส่วนถูกน้ำท่วมขัง ซึ่งชาวบ้านหนองแต้ได้แสดงความกังวลว่าอาจเหตุให้ต้นไม้บริเวณนั้นล้มตาย และได้ให้ข้อมูลว่าน้ำท่วมขังดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีการสร้างโรงงาน
เมื่ออาสาสมัครเฝ้าระวังมลพิษฯ และผู้สื่อข่าวสอบถามถึงการทำประชาคมหรือประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น ชาวบ้านหนองแต้ก็ยืนยันว่า ที่ผ่านมาพวกตนไม่เคยรับทราบการขอใช้ที่สาธารณะแห่งนี้ และไม่เคยการทำประชาพิจารณ์หรือมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามความเห็นใดๆ ซึ่งหากทางรัฐบาลยังคงยืนยันจะอนุมัติให้เอกชนใช้ประโยชน์จากที่สาธารณะห้วยเม็กและป่าชุมชนแห่งนี้ พวกตนก็พร้อมจะคัดค้าน เนื่องจากไม่สามารถยกให้ได้เพราะเป็นพื้นที่ป่าที่ชาวชุมชนรอบพื้นที่ได้อาศัยพึ่งพิงในการหาเลี้ยงชีพมาเป็นเวลานาน
(ขอขอบคุณ "อาสาสมัครเฝ้าระวังมลพิษ อ.น้ำพอง และ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น" เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ)