มลพิษจากอุตสาหกรรม "กฎหมายอ่อน" บั่นทอนคุณภาพชีวิต (4 ก.ย. 60)
แนวหน้าออนไลน์ 4 กันยายน 2560
มลพิษจากอุตสาหกรรม กฎหมายอ่อนบั่นทอนคุณภาพชีวิต
อุตสาหกรรม...รายได้สำคัญของประเทศไทย ดังข้อมูลจากบทความ “Thailand in the Next Five Years More Innovation, More Service-driven” ที่เผยแพร่บทเว็บไซต์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (www.bblam.co.th) ระบุว่า ในปี 2557 “ภาคการผลิต” หรือภาคอุตสาหกรรมนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 28 ของรายได้ประเทศ เป็นรองเพียงภาคบริการซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 42 แน่นอนว่ามากกว่าการเกษตรที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 7 และคาดว่าในปี 2563 GDP ภาคอุตสาหกรรมก็อยู่ที่ร้อยละ 27 ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
มากนัก
นับจากปี 2504 ที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก พร้อมๆ กับการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจย้ายออกจากภาคเกษตรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม ในมุมหนึ่งได้ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องมากว่ากึ่งศตวรรษ แต่อีกมุมหนึ่ง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลายรายกลับไม่ค่อยรับผิดชอบต่อสังคมเท่าใดนัก เห็นแก่ผลกำไรสูงสุดด้วยต้นทุนต่ำสุดเข้าว่า จึงนำ“ของเสีย” จากกิจการของตนลักลอบปล่อยทิ้งในพื้นที่สาธารณะ จนเกิดผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ
ที่งานสัมมนา “การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถ.วิภาวดีรังสิต ย่านหลักสี่ กทม. รศ.ดร.กอบกุล รายะนาคร หัวหน้าคณะวิจัยโครงการการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี 2559 ประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมด 138,083 แห่ง ในจำนวนนี้เป็น “โรงงานจำพวกที่ 3” ที่กฎหมายคือ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 (มาตรา 7) กำหนดให้ต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงดำเนินการได้
ขณะเดียวกัน ในแต่ละปี กรมโรงงานอุตสาหกรรม คาดการณ์ว่ามีกากอุตสาหกรรมเกิดขึ้น แบ่งเป็นที่มีอันตราย 3.35 ล้านตัน และไม่อันตราย 50.3 ล้านตัน ทว่าข้อมูลการขอนำกากออกจากพื้นที่โรงงาน อาทิ ในปี 2557 มีการแจ้งเข้ามาเพียงร้อยละ 31 และร้อยละ 24 เท่านั้น คำถามคือ “แล้วที่เหลือหายไปไหน?” การจัดเก็บ ขนส่ง และกำจัด ทำได้ถูกวิธีตามหลักวิชาการหรือไม่? หรือมีการนำไปลักลอบทิ้ง
รศ.ดร.กอบกุล กล่าวต่อไปถึง “3 ขา” ต้นตอของปัญหาขยะอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ปล่อยปละละเลยไม่สนใจว่าผู้ที่จะมารับกากอุตสาหกรรมจากตนไป “เอาไปทำอะไรต่อ?” คิดเพียงแต่ “เอาราคาถูกเข้าว่า” ไม่เลือกบริษัทที่ทำงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรมแบบถูกต้องตามหลักวิชาการ เพียงเพราะเห็นว่าคิดค่าดำเนินการแพงกว่า เป็นต้น
2.ผู้ขนส่ง สภาพรถลำเลียงกากอุตสาหกรรมเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่? หรืออาจดำเนินการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 3.ผู้ประกอบการรับกำจัดของเสีย ไม่สนใจว่า “ตนเองมีศักยภาพแค่ไหน?” มีความพร้อมหรือไม่? “รับๆ มาก่อนเพื่อให้ได้เงินค่าจ้างจากโรงงานมากๆ” บางครั้งพบว่ามีการนำขยะอุตสาหกรรมไปลักลอบทิ้งในพื้นที่ทิ้งขยะของชุมชน
“สมมติโรงงานรีไซเคิลของเสียรับกากมา 1,000 ตัน บอกเอาไปทำเชื้อเพลิงแท่ง ก็อาจจะเอาไปทำจริงๆ แค่ 300 ตัน ที่เหลือก็ลักลอบทิ้ง อันนี้ก็เป็นปัญหา” รศ.ดร.กอบกุล กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อไปดู “ข้อกฎหมาย” ยังพบข้อสังเกตว่า “โทษเบาเกินไปหรือไม่?” อาทิ ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 “มาตรา 37 และมาตรา 39” ระบุว่า โรงงานใดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือดำเนินกิจการที่ก่อผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่ใกล้เคียง ภาครัฐมีอำนาจเพียงสั่งปิดและให้แก้ไขในเวลาที่กำหนดเท่านั้น จึงเกิดปัญหาประเภท “เจ้าหน้าที่มาเตือนทีหนึ่งก็หยุดทีหนึ่ง ไว้พอเรื่องเงียบเดี๋ยวก็ทำผิดใหม่” ผิดซ้ำผิดซากเรื่อยไป เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจ “สั่งปิดโรงงานถาวร” เว้นแต่ผู้ประกอบการจะไม่ดำเนินการตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่
หรือ “มาตรา 8 และมาตรา 45” ว่าด้วยกฎกระทรวงเกี่ยวกับการควบคุมกิจกรรมต่างๆ ของโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึง (5) “การกำจัดของเสีย” ด้วย กฎหมายส่วนนี้ดูเหมือนอัตราโทษสูง คือ“ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท” แต่ในความเป็นจริงเมื่อมีการลงโทษมักจะ “ปรับแค่หลักหมื่นบาท” เท่านั้น อีกทั้งยังสามารถ “เปรียบเทียบปรับ” กับทางพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลแต่อย่างใด ทั้งที่การปล่อยของเสียออกสู่พื้นที่สาธารณะนั้นส่งผลกระทบต่อผู้คนเป็นวงกว้าง
“พ.ร.บ.แรงงานต่างด้าว จะเห็นว่าถ้าจ้างแรงงานผิดกฎหมาย ค่าปรับขั้นต่ำ 4 แสน สูงสุด 8 แสน แล้วคิดเป็นรายคนด้วย
ผู้ประกอบการบอกว่า 1 คน 4 แสน 2 คน 8 แสน ไม่ไหวแน่ๆ แต่ทำไมเรื่องสำคัญอย่างกากอุตสาหกรรมถึงไม่มีกำหนดโทษขั้นต่ำ” รศ.ดร.กอบกุล ระบุ
อีกประเด็นหนึ่ง “ควรแยกหน่วยงานส่งเสริมออกจากหน่วยงานควบคุม” รศ.ดร.กอบกุล ตั้งข้อสังเกตว่า ภารกิจของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม คือการ “ส่งเสริมการตั้งโรงงาน” ดังนั้นการมอบหมายให้ทำหน้าที่ “ควบคุมคุณภาพโรงงาน” อาจเป็นการทำงานที่ “ขัดกันเอง” หรือไม่? ซึ่งในหลายประเทศ หน่วยงานออกใบอนุญาตกับหน่วยงานกำกับดูแลเป็นคนละหน่วยงานกัน เช่น เพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ให้กระทรวงที่มีภารกิจดูแลสิ่งแวดล้อมเข้าไปควบคุมคุณภาพโรงงานอุตสาหกรรม
“ภารกิจของกรมโรงงานคือส่งเสริมการลงทุน วันๆ รัฐบาลเขาถามว่าตัวเลขการลงทุนไปถึงเท่าไรแล้ว? เขามีหน้าที่ตรงนั้น จะให้เขามากำกับโรงงานให้ทำตามกฎหมาย ให้ปิดโรงงาน มันเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าหน่วยงานอนุญาตกับหน่วยงานกำกับดูแลเป็นหน่วยงานเดียวกันก็ยากจะตรวจสอบได้ เวลาที่ศึกษาข้อร้องเรียนต่างๆ จะพบว่าทุกกรณีเลยที่ฉายหนังซ้ำ คือประชาชนร้องเรียน กรมควบคุมมลพิษเข้าไปตรวจแล้วทำหนังสือถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม บอกให้ช่วยกำกับดูแลหน่อย เราก็จะเจอเหตุการณ์แบบนี้เรื่อยๆ” รศ.ดร.กอบกุล ตั้งข้อสังเกต
หัวหน้าคณะวิจัยโครงการการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน ยังกล่าวอีกว่า ควรมีหน่วยงานอื่น เช่น สถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานเอกชนที่มีความรู้ด้านการกำจัดของเสียอุตสาหกรรม เข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของบริษัทรับกำจัดของเสียอุตสาหกรรม เป็นการแบ่งเบาภาระของภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง หรือการปล่อยสารพิษออกจากโรงงานสู่ชุมชนภายนอก ควรมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่? เพราะจะทำให้อายุความยาวนานขึ้นกว่าการมีแต่โทษปรับอย่างเดียว เป็นต้น
ล่าสุดร่างกฎหมายโรงงานอุตสาหกรรมฉบับใหม่กำลังอยู่ในชั้นกฤษฎีกา โดยคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆ นี้!!!