พลิกโฉมสมุย "เกาะปลอดขยะ" (1 ก.ย. 60)
Thai PBS 1 กันยายน 2560
พลิกโฉม "สมุย" เกาะปลอดขยะ
ไทยพีบีเอส ร่วมกับเทศบาลนครเกาะสมุย และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เดินหน้าโครงการสมุยสะอาด เพื่อเป็นต้นแบบการจัดการขยะเปียกจากต้นทาง สาเหตุหลักของปัญหาขยะล้นเกาะสมุย ตั้งเป้าเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้
วันนี้ (1 ก.ย.2560) นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาในหัวข้อ “เกาะสมุยกับการจัดการปัญหาขยะอย่างยั่งยืน” โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง สร้างความร่วมมือภาคธุรกิจโรงแรม ร้านค้า โรงเรียน ชุมชน และภาคประชาชน ตั้งเป้าภายในปี 60 เห็นผลเป็นรูปธรรม
นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า กระทรวงตั้งเป้าพัฒนาหมู่เกาะอ่างทอง ต.อ่างทอง อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และเติบโตอย่างยั่งยืน สำหรับปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ 32.8 ล้านคน
ส่วนเกาะสมุยมีนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนต่อปี จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมผลักดันให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพอย่างยั่งยืน ในอนาคตจะต้องหาแนวทางดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาไทยมากขึ้น พักนานขึ้น และมีการจับจ่ายมากขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อวัน อยู่ที่ 5,064 บาท โดยจะพักเฉลี่ยนาน 9 วัน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจะต้องเข้าใจเรื่องการทิ้งขยะให้ถูกต้อง เพื่อลดปริมาณขยะในกลุ่มนักท่องเที่ยว ส่วนขยะอีกกลุ่มที่ยังคงเป็นปัญหา คือ ขยะสายตา เช่น ป้ายต่างๆ ที่อยู่ริมถนน
"การท่องเที่ยวเป็นวิถีเรา การส่งต่อสร้างต่อ จะไปอย่างไร โดยเฉพาะความตั้งใจให้ภาคการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นไป และยังอยู่ในมือคนไทย ซึ่งการดำเนินการของเกาะสมุยจะกลายเป็นโมเดลของทุกเกาะต่อไป รวมทั้งของการจัดการขยะแบบมีคุณภาพ" นางกอบกาญจน์ กล่าว
ลงนามสัญญาขนขยะ "เกาะสมุย" พรุ่งนี้
นายอวยชัย อินทร์นาค ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวถึงการแก้ปัญหาขยะในพื้นที่เกาะต่างๆ ว่า ขณะนี้ได้ผู้รับเหมาขนขยะจากเกาะเต่าแล้ว เริ่มตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (2 ก.ย.) ส่วนขยะเกาะสมุยจะมีการลงนามสัญญาว่าจ้างได้ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี เพื่อขนขยะไปที่ จ.สุราษฎร์ธานี พร้อมขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการช่วยเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว ขณะนี้เน้นการจัดการขยะต้นทาง
นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย กล่าวว่า ขณะนี้เกาะสมุย มีขยะสะสมมากถึง 200,000 ตัน และมีขยะเฉลี่ยวันละ 150 ตัน โดยเทศบาลต้องจ่ายค่าจัดเก็บขยะเดือนละ 900,000 บาท เบื้องต้นกลุ่มซาเล้งได้ลงทะเบียนประมาณ 300 คน เพื่อตระเวนเก็บขยะบริเวณโรงแรม และโรง เรียน หากทุกคนมีจิตสำนึก และช่วยลดการใช้ขยะ หรือนำขยะไปใช้ให้เกิดไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดการ ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจัดเก็บขยะให้กับเทศบาลเดือนละ 500-1,000 บาท แต่อาจเพิ่มเป็น 10,000 บาท ส่วนภาครัวเรือนประชาชน เดือนละ 100 บาท พร้อมขอบคุณสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่ช่วยผลักดันให้ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคมร่วมแก้ปัญหาและลดขยะให้เป็นศูนย์
นอกจากนี้ ยังมีอีกปัญหาที่สำคัญและแก้ไขยาก คือ สถานการณ์น้ำเสีย ซึ่งปี 2544-2546 ทางเทศบาลได้ของบประมาณสร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ไม่ได้รับงบประมาณ จึงทำเรื่องใหม่อีกครั้ง 400 ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบบ่อบำบัดน้ำเสียที่บ่อผุด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"7-8 ปีที่ผ่านมา มีขยะเฉลี่ยวันละ 150 ตัน การคัดแยกประเภทขยะสำเร็จ ร้อยละ 10 แต่กลุ่มที่ยังไม่ทำก็ยังไม่ทำ จึงมีแนวคิดเพิ่มโทษ และเก็บค่าขยะให้สูงขึ้น เพราะต้องขนขยะของเกาะสมุย ออกไปพื้นที่ภายนอก" นายรามเนตร กล่าว
กลุ่มธุรกิจโรงแรมร่วมลดขยะต้นทาง
นายสถิรพงศ์ สุรินทร์วรางกูร ผู้ประกอบการโรงแรม Bay Water กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงแรม 17 แห่งในพื้นที่เกาะสมุย เริ่มนำร่องจัดการขยะด้วยตนเอง เช่น การคัดแยกประเภทขยะแห้ง ขยะเปียก ขยะอันตราย ตั้งเป้าให้เกาะสมุยเป็นคัสเตอร์ที่ปลอดขยะและสร้างมูลค่าร่วมกัน นอกจากนี้ จะนำปุ๋ยหมักจากขยะเปียก ไปแจกจ่ายชุมชนเพื่อใช้ปลูกผัก และให้โรงแรมต่างๆ รับซื้อผักจากชาวบ้าน เพื่อให้ทุกกลุ่มเดินหน้าทำสมุยให้ยั่งยืน
"การรณรงค์เป็นเรื่องที่ต้องทำ จิตสำนึกก็ต้องมี แต่การใช้กฏหมายจะต้องจริงจังกับผู้สร้างขยะด้วย" นายสถิรพงศ์ กล่าว
ไทยพีบีเอสตั้งเป้าขยายพื้นที่โครงการจัดการขยะต้นทาง
ขณะที่ รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายสภาผู้ชมฯ ในพื้นที่เกาะสมุย และในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีการเสนอประเด็นดังกล่าวเพื่อให้ไทยพีบีเอส ช่วยดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องขยะของเกาะสมุยในบทบาทของความ เป็นสื่อสาธารณะที่ไม่ใช่เพียงการแจ้งข้อมูลข่าวสารเพื่อให้สังคมรับรู้ เท่านั้น แต่ยังเป็นการขับเคลื่อนเพื่อให้สังคมก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าโดยร่วม กับกลุ่ม และเครือข่ายต่างๆบนเกาะสมุย ได้แก่ เทศบาลนครเกาะสมุย ภาคประชาสังคม ห้างค้าปลีกค้าส่ง ภาคธุรกิจโรงแรม โรงเรียน และ ภาคประชาชน
ที่ผ่านมามีทั้งการติดตามการดำเนินงาน ร่วมกับคณะทำงานของเทศบาลและคณะทำงานของแต่ละพื้นที่มีการจัดอบรมเสริมศักยภาพ ด้านการสื่อสารให้แก่คนในพื้นที่ จนโครงการมีความคืบหน้า โดยรวมกลุ่ม 17 โรงแรมในนามกลุ่มรักษ์เชิงมน พื้นที่ละไม พื้นบ่อผุด และพื้นที่บางมะขาม ซึ่งการจัดการขยะเปียกของแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นแตกต่างกันไป เป็นต้นแบบการจัดการขยะเปียกที่สามารถขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นได้ ในฐานะของสื่อสาธารณะ นอกจากการพัฒนาพื้นที่เกาะสมุย ให้เป็นต้นแบบการจัดการขยะต้นทางที่มีทุกภาค ส่วนเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาแล้ว ไทยพีบีเอสยังมีแนวทางที่จะขยายแนวคิดและวิธีการทำงานดังกล่าวไปยังพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียง และขยายไปผลไปทั่วประเทศ
รัฐบาลประกาศให้เรื่องการจัดการขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรี มีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2559 และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กำกับดูแลให้จังหวัดและองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดทำแผนการบริ หารจัดการขยะมูลฝอย ของจังหวัดให้สอดคล้อง กับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประ เทศ (พ.ศ.2559-2564)