นโยบายรัฐหนุนจีน ผุด "เหมืองแร่โปแตชวานรนิวาส" จ.สกลนคร (21 ส.ค. 60)

Nation TV 21 สิงหาคม 2560
 "นโยบายรัฐ" หนุน "จีน" ผุดเหมืองแร่โปแตชวานรนิวาส จ.สกลนคร

การมีเหมืองแร่ในชุมชนยังคงเป็นข้อถกเถียงที่นำมาสู่ความขัดแย้ง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่จะเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับชาววานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่ยังคงต่อสู้กับนโยบายการทำเหมืองแร่โปแตชที่กำลังละเมิดสิทธิชุมชน

ความน่าสนใจของความพยายามให้เกิดเหมืองแร่โปแตชขึ้นในพื้นที่ของ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ก็คือเป็นโครงการที่เกิดจากนโยบายรัฐบาล เมื่อเป็นนโยบายรัฐหลายคนนึกถึงการมีส่วนร่วม แต่ในกรณีนี้กลับสวนทางกัน ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของหมู่บ้านหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบหากเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้น ....

อาชีพทำนาเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านแหลมทอง ตำบลวานรวิวาส  จังหวัดสกลนคร  อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.13 บ้านแหลมทอง ชี้ให้เราดูว่า ถัดจากท้องนา พื้นที่ว่างเปล่าที่เห็นนี้ คือร่องรอยของการเตรียมสำรวจแร่ ของ บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด แต่มันยังคงเป็นเพียงร่องรอยการเตรียมสำรวจที่ยังทำไม่สำเร็จ เพราะเกิดการคัดค้านจากชาวบ้าน อย่างรุนแรง

เพราะคนส่วนใหญ่ทำนา หากเหมืองแร่โปแตชเกิดขึ้น ชาวบ้านจึงกังวลปัญหาผลกระทบเช่นดินเค็ม เนื่องจากหางแร่โปแตชก็คือเกลือ หากจัดการอย่างล่ะหลวม ชาวบ้านที่นี่จะปลูกข้าวไม่ได้อีกต่อไป

นอกจากปัญหาดินเค็มแล้ว น้ำที่ต้องใช้หล่อเย็นในขั้นตอนของการแยกแร่จำนวนมหาศาล จะนำมาสู่การ แย่งชิงทรัพยากรน้ำ ระหว่างเหมืองแร่กับชุมชน เหล่านี้ล้วน เป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องการให้เหมืองแร่เกิดขึ้น

ไทม์ไลน์เหมืองแร่โปแตช วานรนิวาส จ.สกลนคร

ปี 2519 กรมทรัพยากรธรณีสำรวจแร่ที่อำเภอวานรนิวาส, อำเภอพรรณานิคม, อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร พบแร่โปแตชชนิด Carnallite และ Sylvite

ปี 2522 กระทรวงอุตสาหกรรมประกาศให้พื้นที่แอ่งสกลนครและแอ่งโคราชเป็นพื้นที่เพื่อการสำรวจ ทดลอง ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแร่ตามมาตรา 6 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510

ปี 2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ชักชวนให้จีนมาลงทุนโครงการเหมืองแร่โปแตชในไทย โดยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU)

ปี 2547 บริษัท ไชน่า หมิงต๋า โปแตช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โปแตชในอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 แปลง เนื้อที่จำนวน 120,000 ไร่

ปี 2555 นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เยือนจีน โดยจีนขอให้ไทยสนับสนุนการทำเหมืองแร่โปแตสของบริษัท ไชน่า หมิงต๋า

ปี 2558 กรมเหมืองแร่ ออกอาชบัตรสำรวจแร่ ให้บริษัทฯ 12 แปลง 116,875 ไร่ และเริ่มสำรวจแร่ไปแล้ว 2 หลุม

ปี 2563 อาชญาบัตรหมดอายุ

"สิ่งที่ต้องดูหลังจากนี้คือการขอประทานบัตรเพื่อทำเหมือง ซึ่งก็จะมีการทำประชาคม ว่าประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจะเห็นด้วยหรือไม่ พรุ่งนี้เราจะกลับมาติดตามท่าทีของชาวบ้านทั้ง 2 ฝ่าย"