คปส. ออกแถลงการณ์พิเศษ จี้รัฐบาลล้มเลิก "EHIA ฉบับฉ้อฉล" โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา (25 ส.ค. 60)

MGR Online 25 สิงหาคม 2560
คปส.ออกแถลงการณ์พิเศษ จี้รัฐบาลล้มเลิก EHIA ฉบับฉ้อฉล โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา

ศูนย์ข่าวภาคใต้ - องค์กรภาคี และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ออกแถลงการณ์พิเศษ จี้รัฐบาลเลิกล้ม EHIA ฉบับฉ้อฉล โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา แล้วเริ่มต้นกระบวนการศึกษาใหม่อีกครั้ง ย้ำควรให้ความเป็นธรรม และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองของประชาชน
       
       แถลงการณ์พิเศษ 2/2560 องค์กรภาคี และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ถึง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 25 สิงหาคม 2560 เรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ตัวแสดงใหม่ของรัฐไทย ผลิตซ้ำความเป็นพลเมืองชั้น 2 บ่อนเซาะสันติภาพ
       
       ตัวแสดงใหม่ของรัฐไทยเปิดตัวใน อ.เทพา จ.สงขลา ในปลายปี 2556 นั่นคือโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินเทพา ระยะเวลาให้หลังจากนั้น 9 เดือน การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) 3 ครั้งก็สำเร็จ ท่ามกลางการทุ่มแจกข้าวของ เสื้อผ้าให้คนเทพาส่วนหนึ่ง ทว่ากีดกันคนเทพาอีกส่วนหนึ่งไม่ให้มีส่วนร่วมรับฟัง และแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการ ด้วยการสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ และลวดเหล็กหนาม
       
       เมื่อ 20 มกราคม 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท รูปธรรมที่ส่งผลชัดเจนคือ การลิดรอนการเรียกร้องต่อสู้ของประชาชนตามสิทธิชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ จ.ปัตตานี ฯลฯ บทเดิมๆ ถูกผลิตซ้ำๆ กับความเป็นพลเมืองชั้น 2 ของมุสลิม และหากเป็นมลายูมุสลิม คงมิอาจรู้ได้ว่าเป็นพลเมืองชั้นไหน ปัจจุบันหลักการสิทธิมนุษยชนในรัฐไทยแทบไม่หลงเหลือ
       
       ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948) กล่าวถึงสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสาระสำคัญคือ หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน (ข้อ 1-2) สิทธิทางการเมือง และสิทธิความเป็นพลเมือง (ข้อ 3-21) สิทธิด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม (ข้อ22-27) และหน้าที่ของบุคคล สังคม และรัฐ (ข้อ 28-30)
       
       หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ว่าด้วยสิทธิทางการเมือง และสิทธิความเป็นพลเมืองของปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948) ระบุว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศของตน ทั้งโดยทางตรงหรือทางผู้แทน ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค ทุกคนมีสิทธิในการชุมนุม และการสมาคมโดยสันติ ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แสวงหาข้อมูลข่าวสาร และสามารถรับส่งข้อคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อใดๆ ก็ได้ โดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลจะถูกจับกุม กักขัง ตามอำเภอใจไม่ได้ ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย และมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ บุคคลจะถูกกระทำการทรมาน หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้ เป็นต้น
       
       เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ตึงเครียดไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จนอาจส่งผลกระทบสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง โดยประชาชนที่ถูกกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนัก หันหลังให้กับกระบวนการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานในทางการเมืองด้วยสันติวิธีก็เป็นได้นั้น
       
       ซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) มีข้อเสนอประกอบด้วย
       
       1. ขอให้รัฐไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เลิกล้ม EHIA ฉบับฉ้อฉล แล้วเริ่มต้นกระบวนการศึกษาใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตราพิเศษ ม.44
       
       2. รัฐควรให้ความเป็นธรรม และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมืองของประชาชน ภายในรัฐทุกภูมิภาคทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ทุกชาติพันธุ์ ศาสนา และลัทธิความเชื่อทางการเมือง ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948)
       
       3. ขอให้เครือข่ายนักศึกษา ประชาสังคม และประชาชนทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ ช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง
       
       เทพา-ปาตานี/ชายแดนใต้ ภายใต้ชะตากรรมร่วมเดียวกัน เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) จึงเข้าใจการถูกกดข่มจนไร้สิทธิ ร่วมกำหนดวิถีชีวิตตัวเองจนกลายเป็นชายขอบ และรู้สึกเป็นพลเมืองชั้น 2 หากรัฐบาลไม่เลิกล้ม EHIA ฉบับฉ้อฉล แล้วเริ่มต้นกระบวนการศึกษาใหม่อีกครั้ง เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) และภาคีร่วมจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป
       
       ด้วยจิตรักษ์ความเป็นธรรม สันติภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคีและเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) 25 สิงหาคม 2559