กลุ่ม "ค้านถ่านหินเทพา" เตรียมยกระดับเคลื่อนไหว ผลักดัน "ปฏิรูปอีเอชไอเอ" (25 ส.ค. 60)
ประชาไท 25 สิงหาคม 2560
กลุ่มค้านถ่านหินเทพาเตรียมยกระดับเคลื่อนไหว ผลักดันปฏิรูปอีเอชไอเอ
ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS)
กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเชื่อรัฐไม่ยอมรับระงับอีเอชไอเอ ทั้งที่ข้อมูลในรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ เตรียมหารือเครือข่ายเพื่อยกระดับการเคลื่อนไหว ผลักดันปฏิรูปกระบวนการทำอีเอชไอเอ
ชาวบ้าน 4 คนจากหมู่ 4 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัสงขลา เดินทางมาปักหลักที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 23 สิงหาคม 2560 เพื่อขอให้ทางรัฐมนตรีระงับรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ได้อนุมัตอีเอชไอเอฉบับนี้แล้ว และกำลังจะส่งต่อไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เนื่องจากอีเอชไอเอฉบับดังกล่าวมีปัญหาหลายประการ
ดิเรก เหมนคร ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (PERMATAMAS) หนึ่งในชาวบ้าน กล่าวกับประชาไทว่า
“เรามาบอกกับรัฐมนตรี กับรัฐบาลว่า โครงการนี้สร้างความเดือดร้อนกับเรา เราขอให้ระงับอีเอชไอเอและตั้งคณะกรรมการตรวจสอบว่ามันเป็นไปตามกฎหมายและหลักทางวิชาการหรือไม่ ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายและหลักวิชาการ ก็ขอให้ยกเลิก”
ดิเรกขยายความว่า อีเอชไอเอฉบับนี้มีปัญหา 2 ประการ ประการแรก ไม่มีการรับฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ การจัดเวทีรับฟังทั้ง 3 ครั้งเป็นแค่พิธีกรรมที่ไม่ต้องการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างแท้จริง โดยครั้งที่ 1 เป็นการเชิญชวนประชาชนมารับแจกข้าวสารที่เวที โดยไม่ได้บอกประชาชนว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นเวทีศึกษาผลกระทบรายกลุ่ม พบว่ากลุ่มที่ไม่เห็นด้วยไม่ได้รับเชิญให้เข้าให้ข้อมูล และไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะว่าวันนี้จะจัดเวทีครั้งที่ 2 ที่ไหน เวลาใด ส่วนครั้งที่ 3 อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีคำสั่งห้ามฝ่ายคัดค้านเข้าร่วมเวที เพราะเกรงว่าจะสร้างความวุ่นวาย
ประการที่ 2 คือตัวการศึกษาผลกระทบ ปรากฏว่ารายงานฉบับนี้มีข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่อยู่เป็นจำนวนมาก อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า
“อีเอชไอเอที่มีปัญหาเพราะข้อเท็จจริงในรายงานไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ อย่างเรื่องของทรัพยากรชีวภาพทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล เช่น ระบุว่าในคลองมีจอกแหนธูปฤาษี ทั้งที่เป็นคลองน้ำกร่อย หรือบอกว่าเจอปลาช่อน ปลาหมอ ซึ่งในระบบนิเวศน้ำเค็ม น้ำกร่อย จะไม่เจอปลาและพืชเหล่านี้ เป็นต้น หรืออย่างเช่นมลพิษทางอากาศ ถึงบอกว่าจะมีระบบกำจัดตะกั่ว แต่สิ่งที่น่าจะต้องให้ข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าคือ เมื่อสร้างโรงไฟฟ้า 1 โรงแล้ว โรงไฟฟ้าปล่อยสารพิษอะไรออกมาบ้าง ปีหนึ่งปริมาณเท่าไหร่ เทคโนโลยีที่นำมาใช้บอกว่าเป็นของญี่ปุ่น ซึ่งในญี่ปุ่นจะมีกฎหมายบังคับว่าโรงไฟฟ้าต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยมลพิษต่อปี ตัวรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมควรพูดถึงสิ่งเหล่านี้ แต่กลับไม่มี”
อาภากล่าวอีกว่า ปัญหาของระบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยคือไม่มีการประเมินผลกระทบทางสังคมที่ชัดเจน แต่จะเป็นการประเมินคุณภาพชีวิตที่ส่วนใหญ่ในรายงานจะบอกเพียงว่า ชาวบ้านมีรายได้เท่าไหร่ เศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างไร แต่การประเมินภาพรวมผลกระทบทางสังคมไม่มี การประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชน กับวิถีชีวิต วิถีประมงชายฝั่ง กลับไม่มีการเปรียบเทียบมูลค่า
“วันนี้เราสรุปแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจเรา เราไม่คาดหวังแล้ว เราคิดว่าเสียงเราที่มา 4 คน ไม่พอเพียงที่จะให้รัฐฟัง เครือข่ายที่เราร่วมมือกัน ทั้งใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศจะร่วมมือกันหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาและหยุดถ่านหินประเทศไทย และเราต้องการปฏิรูปกระบวนการทำอีเอชไอเอ ซึ่งรัฐบาลจะต้องได้เห็นพลังของความร่วมมือนี้ การชุมนุมเป็นทางเลือกหนึ่งในหลายทางเลือก ซึ่งเรากำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ” ดิเรกกล่าว