อุตฯ ส่งกฤษฎีกาตีความ "กม. แร่ฉบับใหม่" (27 ส.ค. 60)

คมชัดลึกออนไลน์  27 สิงหาคม 2560
อุตฯส่งกฤษฎีกาตีความกม.แร่ฉบับใหม่

อุตฯส่งกฤษฎีกาตีความกม.แร่ฉบับใหม่

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าการประกาศใช้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 จะไม่กระทบกับผู้ประกอบการที่อยู่ระหว่างการพิจารณาขอประทานบัตรเหมืองแร่ที่อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมทั้ง 40 รายโดยหากพิจารณาไม่ทันวันที่ 29 ส.ค. ที่เริ่มใช้กฎหมายใหม่จะไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เพียงแต่จะต้องเพิ่มเติมกระบวนการบางอย่างตามกฎหมายใหม่

ส่วนผู้ประกอบการบางรายที่ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่หรือขอต่อใบอนุญาตเข้ามาแต่ยังติดขัดในประเด็นต่างๆ และเปิดโอกาสให้หารือกับกพร.และกรมทรัพยากรธรณี ถึงปัญหาติดขัดต่างๆ พร้อมจัดทำตารางเวลาที่ชัดเจน จะเร่งดำเนินการพิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ ส่วนเรื่องการกำหนดพื้นที่เขตแหล่งแร่ รวมถึงพิจารณาเรื่องพื้นที่ที่มีศักยภาพทางธรณีวิทยา เพื่อนำมาจัดทำแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ คาดว่าจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในเดือนธ.ค.นี้

นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าการกำหนดเขตแหล่งแร่ ควรจะยึดพื้นที่ตามประทานบัตรเดิมที่เหมืองแร่ดำเนินการอยู่แล้วเป็นหลัก เพราะเหมืองที่ได้ประทานบัตรไปแล้วได้มีการสำรวจ และผ่านการพิจารณาในด้านต่างๆ มาแล้วจนออกเป็นประทานบัตรได้ เพื่อลดเวลาในการกำหนดขอบเขตแหล่งแร่ เพราะหากต้องเริ่มต้นสำรวจใหม่จะต้องใช้เวลา 5-10 ปี ก็ยังกำหนดเขตแหล่งแร่ไม่เสร็จ ทำให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่หยุดชะงักได้ 

ส่วนในพื้นที่ใหม่ที่ยังไม่มีการทำเหมืองแร่จะต้องขึ้นอยู่กับการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีว่าจะมีผลสำรวจอย่างไร โดยขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในเรื่องการอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่จะต้องมีการกำหนดเขตแหล่งแร่ก่อน แต่ในกฎหมายฉบับนี้ยังมีบทเฉพาะกาลให้ดำเนินการต่อเนื่องตามกฎหมายใหม่ได้แต่ก็ยังติดในเรื่องการกำหนดเขตแหล่งแร่ที่จะต้องให้เสร็จภายในเดือนธ.ค.นี้

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการเหมืองแร่ กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มเหมืองแร่มีความกังวลใจในกฎหมายใหม่มาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการใน 40 แปลง ที่ผ่านการพิจารณาในระดับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงนามอนุญาต หากต้องกลับไปเริ่มกระบวนการตามกฎหมายใหม่จะได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะต้องใช้เวลานานหลายปี จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับประทานบัตรไปแล้ว ก็มีความกังวลว่าหากการกำหนดเขตแหล่งแร่ตามกฎหมายใหม่แล้วเหมืองแร่ของตนเองไม่อยู่ในพื้นที่เขตแหล่งแร่จะไม่ได้รับการต่อประทานบัตร หรืออาจถึงขั้นต้องยุติการดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่มีความแน่ชัดด้านกฎหมาย ถึงแม้ว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะยืนยันว่าจะกำหนดเขตแหล่งแร่ตามประทานบัตรเดิม แต่ก็ยังห่วงว่าถ้าถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจจะถูกตีตกไป และต้องใช้เขตแหล่งแร่ใหม่ ทำให้กระทบต่อการดำเนินกิจการ ทำให้ในขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายต้องเร่งเก็บสต็อกวัตถุดิบแร่จนเริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะในกลุ่มหินอุตสาหกรรม และหินปูน ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากรับไม่ไหวอาจจะต้องปรับขึ้นราคาสินค้า