"40 เหมืองแร่" มีเฮ! ค้างต่อใบอนุญาตก่อน 29 ส.ค.นี้ ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ (25 ส.ค. 60)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 25 สิงหาคม 2560
40 เหมืองแร่มีเฮ! ค้างต่อใบอนุญาตก่อน 29 ส.ค.นี้ ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขอใบอนุญาตใหม่ 

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในที่ประชุมร่วมกับภาคเอกชนกลุ่มบริษัทผู้ดำเนินการเหมืองแร่ประเภทหิน ว่า เนื่องจากวันที่ 29 ส.ค.2560 จะเริ่มประกาศใช้ พ.ร.บ.แร่ 2560 (ฉบับใหม่) แต่ยังคงมีจำนวนใบอนุญาตทั้งประทานบัตร อาชญาบัตร และต่อใบอนุญาตค้างอยู่ประมาณ 40 คำขอ ส่วนใหญ่เป็นการทำเหมืองหินนั้น ยืนยันว่าหากยังไม่สามารถพิจารณาใบอนุญาตทั้งหมดได้ทันภายในวันที่ 28 ส.ค.กระทรวงอุตสาหกรรมจะให้ดำเนินการพิจารณาต่อเนื่องไป โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขออนุญาตใหม่

แต่จะเพิ่มเติมข้อกำหนดบางอย่างที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่เข้าไป เช่น การปิดประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ 30 วัน บริเวณ 5 จุดให้ครบถ้วน จากเดิมที่ พ.ร.บ.เก่า ให้ปิดประกาศ 20 วัน บริเวณ 3 จุดเท่านั้น รวมถึงข้อกำหนดอื่นๆที่สำคัญอย่างการรับฟังความคิดเห็น เขตแหล่งแร่พื้นที่ที่ได้ถูกสำรวจแล้วประกาศเป็นแหล่งที่สามารถขุดเจาะทำเหมืองแร่ ว่าทำได้หรือไม่

ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดเขตแหล่งแร่ แหล่งหิน พื้นที่ที่เหมาะสมและมีศักยภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความชัดเจนของการดำเนินธุรกิจต่อไปว่าเอกชนจะต้องทำอย่างไร จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีพล.เอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ธ.ค.

อย่างไรก็ตามในพื้นที่แหล่งแร่ใหม่ทั่วประเทศที่ยังอยู่ระหว่างการสำรวจของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหากผ่านการพิจารณาและประกาศกำหนดพื้นที่แล้ว จะไม่มีผลย้อนหลังกับเหมืองที่ดำเนินการอยู่แล้วแน่นอน เนื่องจากทุกเหมืองก่อนที่จะได้รับการอนุญาตจะต้องผ่านการพิจารณาตรวจสอบแล้วว่า พื้นที่แห่งนั้นสามารถขุดเจาะทำเหมืองได้ไม่มีการรุกล้ำเขตพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย

“หากนับตั้งแต่วันนี้เราเหลือเวลา 3 วันในการพิจารณา 40 คำขอที่ค้างอยู่ หากเซ็นก่อนก็ผ่านได้เลย แต่หากไม่ทันต้องไปเข้า พ.ร.บ.ใหม่ เรารับรู้ปัญหาของแต่ละรายการ ดังนั้น จึงมีการตั้งทีมขึ้นมาเร่งดูเรื่องนี้ ก็จะเคลียร์ทุกปัญหาได้”

นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า คำขอที่ค้างอยู่หากพบว่าขอทำเหมืองในพื้นที่ 1.เขตเหมืองเดิม และ 2.เขตแหล่งหิน ที่ ครม. เคยประกาศไว้เมื่อปี 2540 สามารถดำเนินการได้ แต่หากคำขอพบว่าขอทำนอกเหนือจาก 2 พื้นที่ดังกล่าวจะต้องรอการสำรวจจนกว่าจะประกาศ

ทั้งนี้กระบวนการเซ็นอนุญาตคำขอภายใต้ พ.ร.บ.แร่ใหม่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ เหมืองขนาดเล็ก (8 แร่ที่ไม่ต้องทำ EIA เช่นเหมืองดิน ทราย) เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดและคณะกรรมการจังหวัด ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 200-300 แปลง ส่วนเหมืองขนาดกลาง-ใหญ่ (เช่น โพแทช ทองคำ หิน ยิปซั่ม) เป็นอำนาจของอธิบดีกรมพื้นฐานอุตสาหกรรมและการเหมืองแร่ (กพร.) ปัจจุบันมีจำนวน 1,000-1,500 แปลง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กลุ่มสมาชิกที่ดำเนินธุรกิจปูนซีเมนต์ซึ่งทำเหมืองหินมีความกังวลถึงปัญหาที่ใบอนุญาตยังค้างอยู่ ซึ่งเอกชนไม่อยากให้ตีความว่ากระทรวงฯไม่เอื้อในการทำธุรกิจ แต่เหมืองหินเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในประเทศหากยังไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จะมีผลกระทบที่ต้องหยุดชะงัก แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการรายงานว่าขาดวัตถุดิบปูนซีเมนต์ขึ้นก็ตาม และด้วยเหมืองหินไม่ได้สร้างผลกระทบร้ายแรง จึงไม่ควรนำมารวมกับเหมืองอื่นที่มีกรณีสร้างผลกระทบร้ายแรงทั้งสิ่งแวดล้อมและร่างกาย

นายศิวะ มหาสันทนะ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้คือ ความไม่ชัดเจน ของนโยบายรัฐทำให้เอกชนไม่รู้ว่าจะต้องเดินหน้าต่ออย่างไร เนื่องจากต้องตอบคำถามกับนักลงทุนผู้ถือหุ้น เพราะหากยังไม่ได้รับใบอนุญาตจะกระทบต่อการผลิต การป้อนวัตถุดิบให้กับลูกค้า ดังนั้นการต้องไปเริ่มต้นใหม่ทั้งยื่นขอใบอนุญาตหรือรับฟังความคิดเห็นถือเป็นปัญหาที่กังวลมาก