ก.อุตฯ ย้ำไม่ได้ดึงเรื่องใบอนุญาตเหมืองแร่ โต้ข่าวชดใช้ค่าเสียหายเหมืองทองอัครา (25 ส.ค. 60)

MGR Online 25 สิงหาคม 2560
 ก.อุตฯย้ำไม่ได้ดึงเรื่องใบอนุญาตเหมืองแร่โต้ข่าวชดใช้ค่าเสียหายเหมืองทองอัครา

 กระทรวงอุตสาหกรรมแจงผู้ประกอบการกรณีช่วงรอยต่อพ.ร.บ.แร่ใหม่ที่จะมีผล 29 ส.ค.ว่าไม่ได้เป็นการดึงเรื่องแต่อย่างใด โดย 40 คำขอที่ค้างอยู่หากไม่ผ่านก็ให้มีกระบวนการพิจารณาต่อเนื่องได้แต่อาจต้องเพิ่มเติมให้สอดรับกับกฏหมายใหม่ พร้อมเตรียมประกาศเขตแหล่งแร่เข้าครม.ธันวาคมนี้ ผู้ประกอบการปูนบ่นอุบหวั่นชะงักการผลิต
       
        นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการชี้แจงกับกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการเหมืองแร่ภายหลังที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.)เตรียมใช้พ.ร.บ.แร่พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับวันที่ 29 ส.ค.นี้ว่า ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ใหม่ ขอต่อประบัตรเดิม รวมถึงการขออาชญาบัตรสำรวจ ตามกฏหมายเดิมที่ค้างพิจารณาอยู่ประมาณ 40 คำขอมีความกังวลถึงความล่าช้านั้นขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการตามพ.ร.บ.แร่แล้ว โดยยืนยันว่า หากไม่ผ่านการพิจารณา 28 ส.ค.นี้ก็จะรพิจารณาต่อเนื่องไป ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยื่นขออนุญาตใหม่
       
       " พยายามจะทำให้ต่อเนื่องไป แต่จะเพิ่มเติมข้อกำหนดบางอย่างที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่เข้าไป ด้วยเช่นการปิดประกาศให้ชาวบ้านรับรู้ตามพ.ร.บ.ใหม่และอื่นๆ เพื่อให้ครบถ้วนมากขึ้น "
       
       อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ตั้งคณะทำงานระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดเขตแหล่งแร่ แหล่งหิน พื้นที่ที่เหมาะสมและมีศักยภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความชัดเจนของการดำเนินธุรกิจต่อไปว่าเอกชนจะต้องทำอย่างไร จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายแร่แห่งชาติ (คนร.) ซึ่งมีพล.เอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ธ.ค. 60 
       
       ส่วนกรณีกระแสข่าวที่รัฐบาลไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายทางธุรกิจกว่า 30,000 ล้านบาท ให้บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด ผู้ประกอบการเหมืองแร่ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนบริษัท อัครา รีซอร์สเซส หลังยุติการทำเหมืองแร่ทองคำ ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากทุกอย่างยังอยู่ในกระบวนการเจรจาถึงแนวทางต่างๆ และยังไม่มีข้อสรุป โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก และยังไม่มีกำหนดเวลาเงื่อนไข
       
       นายปณิธาน จินดาภู รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน การบังคับใช้พ.ร.บ.เหมืองแร่เดิมกับของใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 29 ส.ค.60 นี้ ซึ่งตามมาตรา 17 ตาม พรบ.เหมืองแร่ปี 60 กำหนดเรื่องเขตแหล่งแร่ ซึ่งมีคณะอนุกรรมการ 2 ชุดเข้ามาดูแล แบ่งเป็นคณะอนุกรมการจัดทำแผนแม่บทกำหนดแหล่งแร่และคณะอนุกรรมการหินอุตสาหกรรม ซึ่งคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุด มีความเห็นตรงกันว่า แผนแม่บทเขตแหล่งแร่ จะต้องจัดทำเสร็จและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเดือนธันวาคมปีนี้ สำหรับการกำหนดตามเขตประทานบัตรเดิม เขตแหล่งหินที่เคยเข้าครม.มาแล้ว เป็นตัวหลักโดยไม่ต้องสำรวจ แต่พื้นที่ใหม่จะต้องพิจารณาต่อไป
       
       นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มปูนซีเมนต์ซึ่งทำเหมืองหินกังวลว่าวัตถุดิบจะมีปัญหาหากคำขอค้างพิจารณา
       
       นายศิวะ มหาสันทนะ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ขณะนี้ต้องตอบคำถามกับนักลงทุนผู้ถือหุ้น เพราะหากยังไม่ได้รับใบอนุญาตจะกระทบต่อการผลิต การป้อนวัตถุดิบให้กับลูกค้า ดังนั้นการต้องไปเริ่มต้นใหม่ทั้งยื่นขอใบอนุญาตหรือรับฟังความคิดเห็นถือเป็นปัญหาที่กังวลมาก