3 วันพิสูจน์ใจรัฐบาล ชาวบ้านเทพา ประกาศ "สัจธรรม" ยันไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน (25 ส.ค. 60)

Citizen Thai PBS 25 สิงหาคม 2560
3 วันพิสูจน์ใจรัฐบาล ชาวบ้านเทพา ประกาศ “สัจธรรม” ยันไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน


ที่มา: https://www.facebook.com/stopcoalsongkhla/

ชาวบ้านเทพา อ่านประกาศ “สัจธรรม” ยันเดินหน้าปกป้องเทพาจากถ่านหิน ย้ำ 2 ข้อเสนอ 1.ระงับรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2.ให้ตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่ายเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายงาน ก่อนเดินทางกลับบ้านพ้อ “วันนี้เราได้รับคำตอบแล้ว เรารู้แล้วว่ารัฐบาลไม่สนใจเรา…”

25 ส.ค. 2560 รายงานความคืบหน้าของชาวบ้านจาก อ.เทพา จ.สงขลา และเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) จำนวน 4 คน ซึ่งเดินทางมาปักหลักรวมตัวกันบริเวณด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อคัดค้านการเดินหน้าสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทพา ขนาด 2,200 เมกกะวัตต์

หลังจากที่ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ คชก. ได้พิจารณาอนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ในพื้นที่ ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 และเตรียมส่งต่อเข้าสู่การพิจารณาของกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามลำดับ

เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.นายดิเรก เหมนคร ได้นำกลุ่มชาวบ้าน อ่านประกาศ “สัจธรรม” ของเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) และเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากอ่านแถลงการณ์ชาวบ้านทั้งหมดจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อรอคำชี้แจงและเตรียมชุมนุมอีกครั้งในเดือน ก.ย.นี้ โดยทางด้านนายดิเรกกล่าวว่าตลอด 3 วันที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับชาวบ้านอย่างแท้จริง

“วันนี้เราได้รับคำตอบแล้ว เรารู้แล้วว่ารัฐบาลไม่สนใจเรา เราจะต้องทำให้รัฐบาลเห็นค่าของเรามากกว่านี้ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับเครือข่ายที่เขาจะประชุมกัน วันนี้เราได้คำตอบแล้ว เราไม่นั่งแล้วที่นี่ เพราะว่ามันไม่มีประโยชน์ เราได้พิสูจน์แล้วโดยคน 4 คน ว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจเรา” นายดิเรกกล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านยังคงยืนยันข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.รัฐบาลจะต้องสั่งระงับรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2560 ไว้ก่อน และ 2.ให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายงาน และจะต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้อย่างตรงไปตรงมา

ด้าน เพจหยุดถ่านหินสงขลา เผยแพร่บางส่วนของ ประกาศ “สัจธรรม” ของเครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ (Permatamas) และเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่หน้ากระทรวงทรัพยฯ ไว้ดังนี้

“เราอินนาลิลลาฮฺ วะอินนา อิลัยฮิรอญิอูน”

“แท้จริงพวกเราเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และแน่นอนว่าพวกเราจะต้องกลับไปหาพระองค์”

นี่คือเหตุผลที่ทำให้เรามิอาจยอมจำนนต่ออำนาจอธรรมและพร้อมจะยืนหยัดปกป้องหน้าแผ่นดินเพื่อพระผู้เป็นเจ้าและด้วยพระนามของอัลลอฮฺพระองค์ย่อมทรงทราบดีถึงเจตนาอันบริสุทธิ์ของพวกเราต่อการออกมาสื่อสารกับสังคมและถึงรัฐบาลในครั้งนี้ เพื่อจะให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงความความทุกข์ร้อนที่แท้จริงของพี่น้องชาวเทพา ด้วยกังวลถึงผลกระทบอันเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ด้วยขณะนี้โครงการดังกล่าวได้มีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนเห็นได้ถึงความไม่สนใจใยดีของรัฐบาล ทั้งที่พวกเราพยายามเสนอแนะ และทักท้วงถึงความผิดพลาดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่ได้ใช้กระบวนการที่ไม่ชอบธรรม และไม่เป็นธรรมกับพวกเรามาแล้วหลายครั้ง

การเดินทางขึ้นมากรุงเทพฯ ในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นทางออกต่อเรื่องนี้ให้กับรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ตั้งอยู่บนฐานข้อเท็จจริงดังที่ได้นำเรียนไปแล้วเมื่อวานนี้ ด้วยหวังว่ารัฐบาลจะมีความจริงใจ และเอาใจใส่ต่อความตั้งใจดังกล่าว ดังวาทกรรมการแห่งยุคสมัยที่บอกว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หากแต่จนถึงเวลานี้ เราได้เห็นถึงความเพิกเฉย ที่สะท้อนถึงความไม่จริงใจของผู้มีอำนาจและพอจะสรุปได้ว่า “คนเทพากำลังจะถูกเบียดขับให้ตกขอบของสังคมในอนาคตอันใกล้นี้”

พวกเราต่างตระหนักดีว่าประเทศชาติจะต้องเดินต่อไปข้างหน้า และจะต้องสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน แต่จะมีประโยชน์อันใดเล่า หากสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายใต้การพัฒนาเหล่านั้นจะต้องแลกด้วยเลือดเนื้อ ชีวิต และวิถีวัฒนธรรมของประชาชน ซึ่งคือการกระทำย่ำยีให้ชุมชนต้องสูญสิ้นสลายไป

สามวันที่ผ่านมานี้ พวกเราได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้วตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าที่พระองค์ได้ย้ำเตือนเราว่า “สูเจ้าจะต้องปกป้อง และรักษาหน้าแผ่นดินนี้ให้ยังคงอยู่กับลูกหลานสืบไป” แม้การมาในครั้งนี้พวกเราจะทำใจตั้งแต่ต้นว่าจะไม่ได้รับการเหลียวแลอะไรมากนักจากรัฐบาล แต่ด้วยคำกล่าวของพระผู้เป็นเจ้าที่ได้บอกกับพวกเราว่า “การญีฮาจที่ประเสริฐที่สุด คือการหาญกล้าที่จะพูดความจริงต่อหน้าผู้มีอำนาจที่อธรรม ถึงแม้จะต้องพบกับความขมขื่นก็ตาม”

จากนี้ไปเราจะกระทำทุกอย่างตามวิถีทางแห่งศาสนา เพื่อจะนำไปสู่การหยุดยั้งการข่มเหงรังแกพวกเราด้วยหัวใจที่ไม่เป็นธรรมเราจะขอยืนหยัดปกป้องหมู่บ้าน ชุมชน มัสยิดกุโบร์ โรงเรียน วัดตลอดถึงวิถีวัฒนธรรมอันดีงามของพวกเราในดินแดนแห่งนี้ให้ถึงที่สุดในสภาวะเช่นนี้ “ถึงพวกเราจะรู้สึกโศกเศร้า แต่เราก็จะสู้” ด้วยหัวใจศรัทธา เราเชื่อว่าการออกมาครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า แต่จะทำให้ประชาชนทั่วไป ตลอดถึง นักวิชาการ นักศึกษา นักกฎหมาย ตลอดถึงภาคประชาสังคมทั่วไปจะเข้าใจ และรับรู้ถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นพลังของสังคมเหล่านี้จะก่อตัวขึ้นในไม่ช้านี้ และจะร่วมกันหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เพื่อรักษาหน้าแผ่นดินนี้ไว้ให้ลูกหลานของพวกเราสืบไป

ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา25 สิงหาคม 2560
 

ชาวบ้านเทพายื่นหนังสือค้านอีเอชไอเอโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2560 วันนี้ (24 ส.ค.) ชาวบ้านเทพาได้ยื่นหนังสือต่อ นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า

จากการที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการ หรือ คชก.ได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และได้อนุมัติผ่านรายงาน EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไปแล้วนั้น ถือเป็นกระบวนการอนุมัติที่ขาดความชอบธรรมในหลายประการ และไม่มีความรอบด้านในการสืบค้นข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ และมากไปกว่านั้น คือ การเปิดพื้นที่เข้าไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่จริงจังทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ทั้งที่โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าทั่วไป ซึ่งมีกำลังการผลิตมากถึง 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งจะก่อผลกระทบในวงกว้างต่อประชาชนหลายจังหวัด

รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจ และให้ความสำคัญต่อทุกขั้นตอนในกระบวนการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพราะรายงานฉบับนี้ขาดความถูกต้องในหลายประการ เครือข่ายเห็นว่าการทำหน้าที่อนุมัติรายงานของ คชก.ยังขาดมิติขององค์ประกอบต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว โดยเฉพาะการนำหลักวิชาการ และหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลเชิงประจักษ์ที่สังคมไม่อาจจะยอมรับต่อการทำหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทที่รับปรึกษาโครงการฯ ดังนี้

1.จุดที่ตั้งโรงไฟฟ้ามีชุมชน และประชาชนอยู่อาศัยที่ไม่ใช่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าอย่างที่กล่าวอ้าง เพราะในเนื้อที่ 3,000 กว่าไร่ อันเป็นที่ตั้งโครงการ มีบ้านเรือนจำนวนมากถึง 250 หลังคาเรือน มีศาสนสถาน คือ วัด 1 แห่ง มัสยิด 3 แห่ง และมีโรงเรียนปอเนาะ (สอนศาสนาเอกชน) 1 แห่ง กุโบร์ (สุสาน) 2 แห่ง ซึ่งถือเป็นชุมชนที่มีวิถีวัฒนธรรมอย่างสงบมาอย่างยาวนาน

2.กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้น การเร่งเดินหน้าโครงการก็ยิ่งเกิดความผิดพลาดเรื่อยมาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งนี้ กฟผ.อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเรื่อง “กระบวนการมีส่วนร่วม” ซึ่งไม่ได้ตรงตามเจตนาของระเบียบ หรือข้อกฎหมายที่มีไว้ต่อเรื่องนี้ และตลอดการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งไม่ได้สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง คือ การสั่งสมปัญหา และความผิดพลาด

3.การเอื้อประโยชน์อันเป็นการสร้างแรงจูงใจ เพียงเพื่อให้ผู้คนเข้ามาลงชื่อเพื่อรับของแจก คือ ข้าวสาร และการแจกเสื้อโต๊บ ซึ่งเป็นชุดสวมใส่เฉพาะของผู้ชายมุสลิม (ซึ่งได้มีการแจกจ่ายไว้ก่อนหน้านี้แล้ว) จึงเห็นได้ว่า ผู้มาเข้าร่วมเวทีถึงจะมีจำนวนมาก แต่ก็มาด้วยเจตนาที่ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดเวที และเห็นได้ว่าเมื่อมีการลงทะเบียนรับข้าวของเสร็จเรียบร้อยแล้ว คนส่วนใหญ่ได้เดินทางกลับในทันที โดยไม่ได้สนใจที่จะรับฟังเนื้อหาสาระจากเวทีแต่อย่างใด

4.ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบตัวจริง ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ที่อาจจะใช้ความรุนแรง ก่อความไม่สงบเสมือนเป็นโจรร้ายชายแดนใต้ จึงถูกปิดกั้นไม่ให้เข้าร่วมเวที โดยการออกคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมเพื่อรักษาความสงบบริเวณโดยรอบของเวที ให้ได้ส่งกองกำลังทหาร และตำรวจจำนวนมากในการคุ้มกันพื้นที่อย่างเข้มข้น พร้อมด้วยอาวุธหนักพร้อมมือ ถือเป็นการจัดบรรยากาศเสมือนจะไม่ใช่เวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

5.การจัดเวที ค.2 คือ การจัดรับฟังเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้มีการรับรู้ข้อมูลที่เป็นบริบทของชุมชน ซึ่งต้องจัดเวทีรับฟังอย่างกระจาย ทั่วถึง และเปิดเผย แต่กลับพบว่าไม่ได้มีการเข้ามารับฟังความคิดเห็นคนในพื้นที่แต่อย่างใด และไม่เป็นที่รับรู้ว่ามีการจัดเวทีเหล่านี้หรือไม่ แบบไหน อย่างไร และการที่ กฟผ.ได้ออกมาให้เหตุผลถึงกลวิธีดังกล่าวว่า เป็นการให้ผลตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมประชุมถือเป็นปกติ การแจกข้าวสารคือการสนับสนุนชาวนา จึงไม่ใช่สิ่งที่ยอมรับได้ เพราะแทบจะไม่มีเวทีการรับฟังความคิดเห็นใดที่ใช้วิธีการเช่นนี้ จึงเห็นได้ว่า “การมีส่วนร่วม” ในความหมายตามวิธีดังกล่าวนั้น คือ ความผิดเพี้ยนของกระบวนการนี้ตั้งแต่ต้น

6.ผลจากการศึกษาเหล่านั้นกลายเป็นข้อบกพร่องของเนื้อหาสาระอย่างเห็นได้ชัดอย่างเช่น ในรายงาน EHIA ที่ระบุว่า พื้นที่เทพา มีป่าเต็งรัง ในคลองน้ำเค็มมีปลากระดี่ ปลาช่อน และมีจอกแหนด้วย ป่าชายเลนเทพาไม่มีต้นโกงกาง สัตว์หน้าดินมีความหนาแน่นต่ำมาก จนเสมือนที่นี่เป็นทะเลเสื่อมโทรม จึงถือเป็นข้อมูลที่มีความขัดแย้งต่อสภาพความจริงในพื้นที่ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วจะยังมีความน่าเชื่อถือของเนื้อหาสาระในส่วนอื่นของรายงานทั้งหมดได้อย่างไร และจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า รายงานฉบับนี้คือการคัดลอกจากรายงานของโครงการอื่น และไม่ได้สะท้อนเนื้อหาของพื้นที่จริง

รัฐบาลจะต้องมีการติดตามตรวจสอบในสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้นแก่สังคม และไม่ปล่อยให้ความผิดพลาดอันนี้กลายเป็นชนวนเหตุแห่งความขัดแย้ง แบบไม่มีที่สิ้นสุดหลังจากนี้

รัฐบาลจึงต้องดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมดังต่อไปนี้

1.รัฐบาลจะต้องสั่งระงับรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา ที่ได้ผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เมื่อวันที่ 17  ส.ค. 2560 ไว้ก่อน

2.ให้มีการตั้งคณะกรรมการที่ได้รับการยอมรับทั้งสองฝ่าย เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายงาน ทั้งในมิติของเนื้อหาสาระ และกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งรายงานทั้งหมด และจะต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับรู้อย่างตรงไปตรงมา หากมีความไม่ชอบในการจัดทำรายงานชิ้นนี้ ไม่ว่าในด้านเนื้อหาสาระ หรือกระบวนการได้มาซึ่งเนื้อหาสาระ ก็จะต้องยกเลิกรายงานฉบับนี้ทั้งหมด

เครือข่ายฯ ในฐานะของประชาชนในพื้นที่ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ขอแสดงเจตนาบริสุทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น และขอยื่นข้อเสนอนี้เพื่อให้รัฐบาลได้พิจารณาหาทางออกที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น และจะรอติดตามความคืบหน้าต่อเรื่องนี้จนกว่าจะได้รับคำตอบ โดยหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อเหตุผลดังกล่าวเบื้องต้น ที่พยายามจะสื่อสารให้เห็นถึงความผิดปกติของโครงการดังกล่าวทั้งหมด


กฟผ. ยืนยัน รายงาน EHIA โรงไฟฟ้าเทพา ทำตามกฎหมายทุกขั้นตอนเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 เว็บไซต์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลยืนยันความโปรงใสในการจัดทำ EHIA โรงไฟฟ้าเทพา

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ ในฐานะโฆษก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ และองค์กรเครือข่าย ร่วมกันแถลงการณ์คัดค้านการเดินหน้าสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินเทพานั้น กฟผ. ขอชี้แจงว่า EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในทุกสาขาวิชาเป็นผู้พิจารณาตามขั้นตอนและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รวมถึงเปิดให้ผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยส่งข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะ มาให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) นำไปใช้ประกอบการพิจารณาได้ตลอด อีกทั้งมีการเชิญผู้แทนเครือข่ายผู้คัดค้านเข้าร่วมชี้แจงข้อห่วงกังวลและข้อเท็จจริงต่อ คชก. ด้วย

ทั้งนี้ รายงาน EHIA ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาของ คชก. อย่างเข้มงวด โดยได้มีข้อสังเกตและข้อแนะนำ ให้ชี้แจงเพิ่มเติมรวม 6 ครั้ง คือ

1. วันที่ 24 พ.ย. 2558 พิจารณารายงานฉบับสมบูรณ์

2. วันที่ 1 ก.ย. 2559 พิจารณารายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 1

3. วันที่ 8 ก.ย. 2559 พิจารณารายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 1

4. วันที่ 18 ม.ค. 2560 พิจารณารายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 2

5. วันที่ 2 พ.ค. 2560 พิจารณารายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 3

6. วันที่ 17 ส.ค. 2560 พิจารณารายงานชี้แจงเพิ่มเติม ครั้งที่ 4

ใช้ระยะเวลาในการพิจารณารายงานฯ ประมาณ 1 ปี 10 เดือน

การจัดทำ EHIA โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้เปิดให้ประชาชนและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำ EHIA ตั้งแต่ต้น นอกจากนั้นในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งจะมีทั้งผู้แทนของฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยลงทะเบียนและเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นทุกครั้ง ซึ่งมีการเผยแพร่ข้อมูลจากการรับฟังความคิดเห็นให้สาธารณชนรับรู้อย่างเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใส อีกทั้งการสื่อสารสาธารณะในปัจจุบันยังเปิดกว้าง ทำให้สาธารณชนและประชาชนผู้สนใจได้รับรู้และมีการนำข้อมูลไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์และสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสภาพสังคมในปัจจุบันที่เปิดกว้างและเป็นช่องทางให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวางโดยไม่ปิดกั้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

สำหรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประกอบด้วย

1) การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.1) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2557 มีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 3,860 คน

2) การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.2) ระหว่างวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 ถึง 5 มิถุนายน 2558 มีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 708 คน

3) การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการทบทวนร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (ค.3) เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2558 มีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 6,498 คน

“กฟผ. ขอยืนยันว่า โครงการโรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นไปตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ประเทศและนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทยและสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และการจัดทำรายงาน EHIA ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ได้ดำเนินการตามขั้นตอน รวมถึงปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมทั้งดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบและเปิดให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่” โฆษก กฟผ. กล่าว


ที่มา: https://www.facebook.com/stopcoalsongkhla/


ที่มา: https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2100&catid=31&Itemid=208