"ภาคประชาสังคม" ชี้ ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา’ บ่อนเซาะสันติภาพ – ภาคี น.ศ. 3 มหาวิทยาลัยร่วมต้าน (25 ส.ค. 60)
Citizen Thai PBS 25 สิงหาคม 2560
ภาคประชาสังคมฯ ชี้ ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา’ บ่อนเซาะสันติภาพ – ภาคี น.ศ. 3 มหาวิทยาลัยร่วมต้าน
25 ส.ค. 2560 องค์กรภาคีและเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) ชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตัวแสดงใหม่ของรัฐไทย ผลิตซ้ำความเป็นพลเมืองชั้น 2 บ่อนเซาะสันติภาพ ด้านภาคีนักศึกษา 3 มหาวิทยาลัยในภาคใต้ ออกแถลงการณ์หนุนการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านโครงการรวมทั้ง EHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา โดยระบุรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์พิเศษ 2/2560
องค์กรภาคี และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.)
ถึงพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
วันที่ 25 สิงหาคม 2560
เรื่อง โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตัวแสดงใหม่ของรัฐไทย ผลิตซ้ำความเป็นพลเมืองชั้น 2 บ่อนเซาะสันติภาพ
ตัวแสดงใหม่ของรัฐไทยเปิดตัวในอำเภอเทพา จังหวัดสงขลาในปลายปี 2556 นั่นคือโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่ายถ่านหินเทพา ระยะเวลาให้หลังจากนั้น 9 เดือนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) 3 ครั้งก็สำเร็จ ท่ามกลางการทุ่มแจกข้าวของเสื้อผ้าให้คนเทพาส่วนหนึ่ง ทว่ากีดกันคนเทพาส่วนหนึ่งไม่ให้มีส่วนร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลโครงการด้วยการสกัดกั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐและลวดเหล็กหนาม
20 มกราคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท รูปธรรมที่ส่งผลชัดเจน คือ การลิดรอนการเรียกร้องต่อสู้ของประชาชนตามสิทธิชุมชน กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โรงไฟฟ้าถ่านหินปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ฯลฯ บทเดิมๆ ถูกผลิตซ้ำๆ กับความเป็นพลเมืองชั้น 2 ของมุสลิม และหากเป็นมลายูมุสลิมคงมิอาจรู้ได้ว่าเป็นพลเมืองชั้นไหน ปัจจุบันหลักการสิทธิมนุษยชนในรัฐไทยแทบไม่หลงเหลือ
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948) กล่าวถึง สิทธิมนุษยชนซึ่งมีสาระสำคัญ คือ หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน (ข้อ 1-2) สิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นพลเมือง (ข้อ 3-21) สิทธิด้านสังคม เศรษฐกิจและวัฒนธรรม (ข้อ22-27) และหน้าที่ของบุคคล สังคม และรัฐ (ข้อ 28-30)
หลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ว่าด้วยสิทธิทางการเมืองและสิทธิความเป็นพลเมือง ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948) ระบุว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล ทุกคนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศของตน ทั้งโดยทางตรงหรือทางผู้แทนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการสาธารณะในประเทศของตนโดยเสมอภาค ทุกคนมีสิทธิในการชุมนุมและการสมาคมโดยสันติ ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น แสวงหาข้อมูลข่าวสาร และสามารถรับส่งข้อคิดเห็นต่างๆ ผ่านสื่อใดๆ ก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซง บุคคลจะถูกจับกุม กักขัง ตามอำเภอใจไม่ได้ ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะ ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ บุคคลจะถูกกระทำการทรมาน หรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้ เป็นต้น
เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) จึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ตึงเครียดไปมากกว่าที่เป็นอยู่ จนอาจส่งผลกระทบสุ่มเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรงโดยประชาชนที่ถูกกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักหันหลังให้กับกระบวนการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานในทางการเมืองด้วยสันติวิธีก็เป็นได้นั้น
ซึ่งเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.) เสนอประกอบด้วย
1.ขอให้รัฐไทยและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เลิกล้ม EHIA ฉบับฉ้อฉล แล้วเริ่มต้นกระบวนการศึกษาใหม่อีกครั้ง พร้อมทั้งยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมาตราพิเศษ ม.44
2.รัฐควรให้ความเป็นธรรมและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนภายในรัฐทุกภูมิภาคทั้งเหนือ อีสาน กลาง ใต้ ทุกชาติพันธุ์ ศาสนา และลัทธิความเชื่อทางการเมืองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (10 ธันวาคม พ.ศ. 2491/ค.ศ.1948)
3.ขอให้เครือข่ายนักศึกษา ประชาสังคม และประชาชนทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ช่วยกันรณรงค์ปกป้องสิทธิมุนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
เทพา-ปาตานี/ชายแดนใต้ ภายใต้ชะตากรรมร่วมเดียวกันเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ(คปส.) จึ่งเข้าใจการถูกกดข่มจนไร้สิทธิร่วมกำหนดวิถีชีวิตตัวเองจนกลายเป็นชายขอบและรู้สึกเป็นพลเมืองชั้น 2 หากรัฐบาลไม่เลิกล้ม EHIA ฉบับฉ้อฉล แล้วเริ่มต้นกระบวนการศึกษาใหม่อีกครั้ง เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ(คปส.) และภาคีร่วมจะยกระดับการเคลื่อนไหวต่อไป
ด้วยจิตรักษ์ความเป็นธรรม สันติภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน
องค์กรภาคี และเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (คปส.)
25 สิงหาคม 2559
แถลงการณ์
“ภาคีนักศึกษา 3 มหาวิทยาลัยร่วมต่อสู้เพื่อหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ฉบับที่ 1”
วันที่ 25 สิงหาคม 2560
ในนามนักศึกษา 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย เรา คือ กลุ่มนักศึกษาที่เฝ้าติดตามการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและและชุมชน พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีชุมชนอยู่อาศัยกว่า 250 หลังคาเรือน มีศาสนสถาน ทั้งมัสยิด กุโบร์ และโรงเรียนปอเนาะ สะท้อนให้เห็นวีถีชีวิต วัฒนธรรมที่สงบมาอย่างช้านาน หากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชุมชนและวิถีชีวิตเช่นนี้ กำลังจะถูกโค่นถอนรากเหง้าทางวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนที่สงบสุข
ตลอดช่วงกระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ EHIA ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่เริ่มต้น รัฐบาลและ กฟผ. ได้ปักธงตั้งไว้แล้วที่จะให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทำให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ เป็นเพียงพิธีกรรมที่กระทำอย่างลวกๆ แม้แต่ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เป็นการตัดแปะข้อมูลของพื้นที่อื่นซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของพื้นที่ เช่น พื้นที่เทพาเป็นป่าเต็งรัง ในป่าชายเลนไม่มีต้นโกงกาง คลองตุหยง ซึ่งเป็นคลองน้ำเค็มแต่กลับพบจอกแหน ปลากระดี่ และปลาซ่อน สัตว์หน้าดินมีจำนวนน้อยจนเสมือนว่าทะเลเทพา เป็นทะเลเสื่อมโทรม ซึ่งรายงานผลการศึกษานี้ไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงของพื้นที่แม้แต่น้อย การตัดแปะ โกหก และเป็นเท็จในรายงาน EHIA เช่นนี้ถือเป็นการทำผิดจริยธรรมทางวิชาการและทำให้หลักการของ EHIA ซึ่งจะต้องสะท้อนความจริงของพื้นที่ ถูกบิดให้ผิดเพี้ยน หรือหลักการที่ให้อีเอไอเอ เป็นหลักการป้องกันไว้ก่อนก็ไม่ได้เป็นดังเจตนารมณ์
ช่วง 2 วันที่ผ่านมาชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบได้ลุกขึ้นส่งเสียง เรียกร้องต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รับฟังความจริงของเทพา และหาทางออกที่เหมาะสมต่อสถานการณ์นี้ ในฐานะนักศึกษา ผู้ซึ่งเป็นที่จะต้องยืนหยัดให้หลักวิชาการ ทำความจริงปรากฏชัดในสังคม เมื่อความจริงของเทพาถูกบิดให้ผิดเพี้ยน หลักการไม่เป็นหลักการ เราจึงขอลุกยืนหยัดต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านเทพา เพื่อทำให้หลักการต้องเป็นหลักการ ความจริงต้องปรากฏ
ขณะนี้นักศึกษาและชุมชนกำลังเผชิญชะตากรรมเดียวกัน เราต่างถูกยัดเยียดการพัฒนาที่เราไม่ต้องการ เราจึงขอยืนหยัดปกป้อง ร่วมต่อสู้กับชุมชน เพื่อหยุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา
เราขอย้ำว่า เราเหล่านักศึกษา ไม่ได้ขัดขวางการพัฒนา แต่เราอยากเห็นการพัฒนายั่งยืนและเป็นธรรมต่อชุมชน ชุมชนต้องไม่เป็นผู้เสียสละ
25 สิงหาคม 2560
ภาคีนักศึกษา 3 มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยทักษิณ
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย
ผู้ประสานงานภาคีนักศึกษา 3 มหาวิทยาลัย
นายอภิศักดิ์ ทัศนี และนายจักรี ปานช่วย