เนื้อสัตว์ "มัจจุราชซ่อนรูป" ยาปฏิชีวนะท่วม ยิ่งบริโภคอ่วม ฎเชื้อดื้อยา’ (15 ส.ค. 60)

Green News TV 15 สิงหาคม 2560
‘เนื้อสัตว์’ มัจจุราชซ่อนรูป ยาปฏิชีวนะท่วม ยิ่งบริโภคอ่วม ‘เชื้อดื้อยา’ 

ภัยสุขภาพซ่อนรูปที่แฝงมากับการบริโภคเนื้อสัตว์ กำลังทำให้มนุษย์ตกอยู่ในที่นั่งยากลำบาก

ข้อมูลบ่งชี้ว่าอีก 13 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 2030 โลกอาจใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ เพิ่มขึ้นถึง 120% จากปัจจุบัน นั่นหมายความว่าทั้งเราและสัตว์จะได้รับเชื้อดื้อยามากขึ้นโดยที่ไม่รู้ตัว

แม้จะไม่มีหลักฐานทางสถิติว่าในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ปริมาณการสั่งซื้อและบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเฉลิมฉลองวันหยุดยาวจะเป็นปริมาณเท่าใด หากแต่ ข้อมูลสถิติจากองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD ได้ระบุถึงปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์เฉลี่ยในปี 2015 โดยพบว่าทั่วโลกบริโภคเนื้อหมู 117,568 กิโลกรัม ต่อคน/ปี เนื้อไก่ 112,539 กิโลกรัม ต่อคน/ปี เนื้อวัว 67,452 กิโลกรัม ต่อคน/ปี และเนื้อแกะ 14,257 กิโลกรัม ต่อคน/ปี

สำหรับข้อมูลการบริโภคในประเทศไทย พบว่ามีการบริโภคเนื้อหมู 10.9 กิโลกรัม ต่อคน/ปี เนื้อไก่ 9.7 กิโลกรัม ต่อคน/ปี เนื้อวัว 1.8 ต่อคน/ปี

ปริมาณยาปฏิชีวนะที่ถูกใช้และฉีดลงไปในกระบวนการผลิตเหล่านี้ว่ามหาศาลเพียงใด และนั่นย่อมส่งผลต่อลูกน้อย ต่อการดื้อยา ต่อโรคระบาดในสัตว์ และต่อการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างไร

งานวิจัยเรื่อง Global trends in antimicrobial use in food animals หรือ แนวโน้มโลกเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในอาหารสัตว์ วิเคราะห์ว่า ในปี 2030 ทั่วทั้งโลกจะมีการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและป้องกันโรคในสัตว์จะเพิ่มขึ้น 67% และอาจถูกใช้มากเป็นสองเท่า หรือราวๆ 120% ในบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้

แล้วผลที่ตามมาคืออะไร?

เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดดังทั่วโลก นอกจากจะเคยมีข่าวว่าใช้เนื้อสัตว์ที่ไม่สะอาดและหมดอายุแล้ว ยังมีอีกหลายครั้งที่ถูกระบุว่า ได้ใช้ยาปฏิชีวนะเลี้ยงสัตว์ และมีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาและกลายพันธุ์ของไวรัสตัวใหม่ๆ ในโลก

ในบทความของ ฟิโอนา ฮาร์วีล์ (Fiona Harvey) ผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อมมือรางวัลของ The Guardian รายงานว่า อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ในเอเชียมีการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมาก นั่นทำให้เกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อ และเป็นที่มาของเชื้อไข้หวัดนกที่รุนแรงขึ้น จากไข้หวัดนกสายพันธ์ H5N1 กลายมาเป็น H7N9 ซึ่งเก็บข้อมูลย้อนหลัง 4 ปี พบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก H7N9 มากกว่า H5N1 ถึง 84%

อ้างอิงข้อมูลจาก สำนักงานควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention: CDD) พบว่า ในแต่ละปีชาวอเมริกันว่า 2 ล้านคน อยู่ในภาวะดื้อยา และเสียชีวิตจากภาวะนั้นราว 2.3 หมื่นคน

อีกหนึ่งบทความที่ฉายภาพผลพวงจากการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมากในขั้นตอนการเลี้ยงสัตว์ ก็คือบทความเรื่อง การป่วยไข้ด้วยไวรัสสายพันธ์ใหม่ๆ ในเด็กเล็ก โดย ซาช่า สแตชวิกค์ และ ลีน่าโบรก (Sasha Stashwick and Lena Brook) สองคอลัมนิสต์ ชี้ประเด็นว่า ท่ามกลางวิวาทะเรื่องการรักษาพยาบาลในการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินควร ซึ่งนำมาสู่การดื้อยาในคนและทวีความรุนแรกมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น เรายังรับยาปฏิชีวนะโดยอ้อมจากอาหารที่เรากินเข้าไปทุกวันด้วย

บทความนี้ยกกรณีตัวอย่างคุณแม่จำนวนหนึ่ง ที่ลูกๆ ของพวกเธอตกอยู่ในภาวะดื้อยา เป็นโรคเรื้อรัง นำมาซึ่งการรักษาที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากการรับยาปฏิชีวนะที่มาก และนำมาสู่การกลายพันธุ์ของแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์แล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ทับซ้อนพะรุงพะรังก็คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปลูกพืชเพื่อนำมาเลี้ยงสัตว์ด้วย

ดังที่ฮาร์วีล์อ้างอิงข้อมูลว่า เฉพาะพื้นที่ป่าปลูกถั่วเหลือง เพื่อนำไปผลิตอาหารสัตว์ของประเทศจีน ก็มากกว่าพื้นที่ป่าถั่วเหลืองของประเทศบราซิลถึงสามเท่า

ขณะที่มีการเรียกร้องให้อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ลดการใช้ยาปฏิชีวนะลง ข้อเท็จจริงของธุรกิจประเภทนี้มีว่า เจ้าของโรงงานผลิตเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่เป็นเจ้าของกิจการลูกเกือบทั้งกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเลี้ยง กระทั่งหน้าร้านที่เปิดขาย นั่นทำให้พวกเขามีอำนาจในการต่อรองทั้งกระบวนการ