ผ่านครึ่งวันยังไม่มาตอบ - "ด็อกเตอร์ มอ." ถาม "ด็อกเตอร์ กฟผ." ทำไมต้องแยกศึกษา "โรงไฟฟ้า" กับ "ท่าเรือขนถ่านหิน" (16 ส.ค. 60)

MGR Online 16 สิงหาคม 2560
แปลก! ผ่านครึ่งวันยังไม่มาตอบ “ด็อกเตอร์ ม.อ.” ถามต่อ “ด็อกเตอร์ กฟผ.” ทำไมต้องแยกศึกษา “โรงไฟฟ้า” กับ “ท่าเรือขนถ่านหิน”

 ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “ด็อกเตอร์ ม.อ.” ถาม “ด็อกเตอร์ กฟผ.” ในฐานะรองผู้ว่าด้านชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ ทำไมโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องแยกศึกษา EHIA ตัวโรงไฟฟ้ากับ EIA ท่าเรือขนถ่านหิน ติงแล้วจะได้ผลครบถ้วนไหม ผ่านไปกว่าครึ่งวันยังไรเงาผู้ถูกถามมาตอบคำถาม
        

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อกลางดึกวานนี้ (15 ส.ค.) ดร.สมพร ช่วยอารีย์ รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการ และอาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในชื่อ Somporn Chuai-Aree ตั้งคำถามต่อ ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับผิดชอบงานด้านชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ หรือที่ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Anuchart Palakawongse เกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่ง กฟผ.มีแผนจะปักหมุดในภาคใต้หลายพื้นที่ ความว่า
        
       “เรียน ดร.Anuchart Palakawongse ที่เคารพ ผมเรียนถามด้วยความสงสัยสำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ทำไมถึงต้องแยกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินออกเป็น 2 โครงการย่อยครับ คือ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหิน และมีชุดคณะกรรมการ คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) คนละชุดกัน…
        
       “คำถามก็คือว่า จะสามารถมององค์ประกอบของโครงการใหญ่ครบถ้วนได้อย่างไร? การแยกวิเคราะห์กันจะเชื่อมโยงต่อกันได้ทุกบริบทได้อย่างไร เช่น ท่าเรือจะรับรู้สิ่งที่โรงไฟฟ้าปล่อยอะไรลงท่อทางทะเลบ้าง? โรงไฟฟ้าดูดน้ำมาพิจารณาเรื่องสัตว์น้ำที่นำเข้ามา ผลกระทบอย่างไร?...    
     
       “คณะกรรมการ คชก.ทั้ง 2 ชุดเคยประชุมร่วมกันทุกครั้งไหม เวลาพิจารณาโครงการร่วมกัน เป็นข้อสงสัยว่าทำไมต้องแยกส่วนกันทำ เพราะเหตุผลใดครับ? หรือต้องการแยกเพื่อให้โครงการผ่านได้ง่ายขึ้นครับ? รบกวนขอเหตุผลด้วยครับ ด้วยมิตรภาพครับ”
        
       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า จากการโพสต์ตั้งคำถามของด็อกเตอร์ ม.อ.ปัตตานีดังกล่าว จนถึงเวลาประมาณ 13.00 น. วันนี้ (16 ส.ค.) ก็ยังไร้เงาของด็อกเตอร์ กฟผ.ที่จะมาตอบคำถามดังกล่าว ทั้งๆ ที่ทั้ง 2 คนรู้จักกัน และกันดี และเคยโพสต์ตอบโต้กันมาแล้วหลายครั้ง
        
       ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ หนล่าสุดที่มีการโต้ตอบกันทางเฟซบุ๊ก คือ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา ดร.สมพร ได้โพสต์ตั้งคำถามกรณี กฟผ.นำคณะนักศึกษาจาก ม.อ.ปัตตานี เดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ จ.ลำปาง แล้วเมื่อกลับมามีการนำภาพ และเรื่องราวออกทำการประชาสัมพันธ์สนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ใหญ่โต ขณะที่ ดร.อนุชาต ได้โพสต์ตอบ และมีการขู่จะนำเรื่องไปฟ้องอธิการบดี ม.อ.ด้วย เป็นต้น        

 แปลก! ผ่านครึ่งวันยังไม่มาตอบ “ด็อกเตอร์ ม.อ.” ถามต่อ “ด็อกเตอร์ กฟผ.” ทำไมต้องแยกศึกษา “โรงไฟฟ้า” กับ “ท่าเรือขนถ่านหิน”
ดร.สมพร ช่วยอารีย์ (ซ้าย) ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (ขวา)

         
ดร.สมพร ช่วยอารีย์ (ซ้าย) ดร.อนุชาติ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา (ขวา)