ติวเข้มอาชีวะรณรงค์เลิกใช้ HCFC ชี้ทำลายโลก กรอ.ตั้งเป้าปี 61 ลดสารทำลายโอโซนลง 15% (16 ส.ค. 60)
Green News TV 16 สิงหาคม 2560
ติวเข้มอาชีวะรณรงค์เลิกใช้ ‘HCFC’ ทำลายโลก กรอ.ตั้งเป้าปี 61 ลดสารทำลายโอโซนลง 15%
“กรมโรงงานฯ” ผนึก “สำนักงานอาชีวะฯ” พัฒนาบุคลากรทั่วประเทศลดใช้สารทำความเย็น “HCFC” ทำลายชั้นโอโซน ตั้งเป้าปี 2561 ลดการใช้ลง 15%
กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกการใช้สารทำความเย็นไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFC) ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2560
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดี กรอ. เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยให้ความตื่นตัวกับปัญหาด้านมลพิษ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการขยายตัวและการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดย กรอ.ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ให้ดำเนินโครงการลดและเลิกใช้สาร HCFC โดยช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ในการเปลี่ยนเทคโนโลยีสารทำความเย็นจาก HCFC-22 ไปเป็นสาร HFC-32
นายมงคล กล่าวว่า ในปี 2560 กรอ.ได้ขยายความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการใช้สาร HFC-32 ในเครื่องปรับอากาศ แก่บุคลากรทางการศึกษาของประเทศ จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ สอศ. ในการดำเนินงานเพื่อลดและเลิกใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน โดยส่งเสริมบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงการรักษาชั้นบรรยากาศโอโซน พร้อมปรับเปลี่ยนสารทำความเย็นอย่างถูกต้อง
“นอกจากนี้จะมีการเตรียมหลักสูตรฝึกอบรมบุคลากรอาชีวศึกษา Train-the-trainer Workshop ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศ พร้อมจัดหาชุดเครื่องมือพื้นฐานสำหรับการติดตั้ง และบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศที่ใช้สารทดแทน จำนวน 150 คนทั่วประเทศ ภายใต้งบประมาณ 5.5 ล้านบาท” นายมงคล กล่าว
นายสาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี ในฐานะรักษาการที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือดังกล่าว มหาวิทยาลัยในสังกัด สอศ.จะดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่เรียนสาขาวิชาด้านเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องทำความเย็น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสารทำความเย็น HCFC ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท ซึ่งเป็นสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน
“สารดังกล่าวจะต้องมีการควบคุม ลด และเลิกใช้ โดยปรับเปลี่ยนไปใช้สารทดแทนอื่นที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมความพร้อมนักเรียน นักศึกษา ในการเข้าสู่การทำงานจริงอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ” นายสาโรจน์ กล่าว
อนึ่ง ภายในปี 2561 กรอ. ได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยลดปริมาณการใช้สาร HCFC ลดลงไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1.7 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี