ชาวบ้านริมน้ำโขงทวงถามข้อมูลผลกระทบข้ามแดน "เขื่อนปางแบง" (18 ส.ค. 60)
Citizen Thai PBS 18 สิงหาคม 2560
ทวงถามข้อมูลผลกระทบข้ามแดนเขื่อนปางแบง
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 นายทองสุข อินทะวงศ์ ชาวบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เปิดเผยว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงค่อนข้างกังวลต่อความคืบหน้าของโครงการเขื่อนปากแบง ในประเทศลาวซึ่งอยู่ประชิดชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงราย เพราะขณะนี้ครบระยะเวลา 6 เดือนของขั้นตอนการปรึกษาหารือล่วงหน้า ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปให้ข้อมูล หรือชี้แจงผลกระทบเพิ่มเติมกับชาวบ้านที่จะเกิดขึ้นจากเขื่อนปากแบงเลย ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่หัวงานเขื่อน ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ก็ยังไม่ทราบความคืบหน้าแต่อย่างใด
นายทองสุขกล่าวว่ากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวบ้านในพื้นที่กำลังร่วมกันทำข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศแม่น้ำโขงในเขตบ้านห้วยลึก ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบท้ายน้ำจากการสร้างเขื่อนปากแบง ไว้เป็นฐานข้อมูลสำคัญของชุมชนในอนาคตอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้กลุ่มรักษ์เชียงของได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานราชการหลายแห่งเพื่อขอทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบข้ามแดนที่เกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากแบง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) กรมประมง โดยสผ. ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 ตอบกลับมาว่า สผ.ได้ให้ความเห็น (แก่กรมทรัพยากรน้ำซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก) ว่าข้อมูลที่ใช้นั้นเป็นข้อมูลเก่ายังไม่เป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบข้ามพรมแดนและผลกระทบสะสม จึงต้องมีมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นจากเจ้าของโครงการ ซึ่งสผ. ได้เสนอให้มีแผนการปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนกับประเทศท้ายน้ำซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย
ขณะที่กฟผ.ได้ส่งหนังสือตอบกลับ ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2560 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณเหนือน้ำและท้ายน้ำในเขตประเทศไทย ที่อาจเกิดจากการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากแบงนั้น กฟผ.ได้ร่วมพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากแบง ของสปป.ลาว และได้เสนอความเห็นทั้งทางด้านเทคนิคและวิชาการ รวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าวไว้แล้วรวมทั้งยินดีให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้มีการดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม (Transboundary Environmental Impact Assessment: TbEIA)
ด้านกรมประมงได้มีหนังสือตอบกลับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 มีเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า ทางกรมประมงขอชี้แจงความคิดเห็นต่อกรณีผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง หลังได้พิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เห็นว่า การศึกษาผลกระทบของโครงการด้านทรัพยากรประมงยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ขาดความสมบูรณ์ เเละไม่ครอบคลุมพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการทั้งหมด เช่น 1.จุดเก็บตัวอย่างที่ดำเนินการเก็บตัวอย่างทางด้านประมงมีจำนวนน้อยเเละไม่ครอบคลุมพื้นที่ในลำน้ำและรูปแบบเเหล่งอาศัยสัตว์น้ำที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้ผลการศึกษาไม่สะท้อนข้อมูลที่จะได้รับผลกระทบจริงทั้งหมด 2.ช่วงระยะเวลาที่เก็บตัวอย่างภาคสนามจำนวน 2 ครั้งในช่วงเดือนมกราคมเเละเดือนกรกฎาคม 2554 ไม่ครอบคลุมการเปลี่ยนเเปลงที่เกิดขึ้นตามฤดูกาลในรอบปีทั้งหมด ส่งผลให้จำนวนพันธุ์ปลาที่พบจากการศึกษามีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลการศึกษาของผู้วิจัยอื่นที่ดำเนินการในพื้นที่เดียวกัน 3.วิธีการสุ่มตัวอย่างในด้านการประมงในภาคสนามยังไม่เป็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งทำการสุ่มตัวอย่างด้วยเครื่องมืออวนทับตลิ่งที่มีพื้นที่ขนาดเล็กมาก จึงไม่เป็นตัวแทนที่ดีพอและไม่สามารถสะท้อนให้เห็นความชุกชุมของประชากรปลาที่มีอยู่จริง 4.ไม่มีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มชาวประมงอาชีพในบริเวณพื้นที่เหนือเขื่อน โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทยตั้งแต่พื้นที่แก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จนถึงบ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย กล่าวได้ว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่างมีความกังวลต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนต่อประเทศไทยอย่างยิ่งเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของการจัดทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัท
อนึ่ง โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนล่างของพรมแดนไทยลาว บริเวณแก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ประมาณ 92 กิโลเมตร ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดือนเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จและจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 โดยก่อนหน้าที่มีรายงานข่าวระบุว่า บริษัท EGCO บริษัทลูกของ กฟผ. ถือหุ้นในโครงการนี้ประมาณ 30%
โครงการเขื่อนปากแบง ได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538 ที่ประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ลงนามร่วมกัน โดยเริ่มกระบวนการในปลายปี 2559 และกำหนดครบวาระ 6 เดือน ในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่สามารถอธิบายผลกระทบข้ามพรมแดนได้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2560 กลุ่มรักษ์เชียงของ ในนามผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากแบง ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย กรมทรัพยากรน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานเหล่านี้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งอาจทำให้ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบข้ามแดน