เปิดเกณฑ์ขอตั้งเขตส่งเสริมฯอีอีซี ชง "ประยุทธ์" เร่งประกาศใช้ - นิคมอุตฯจ่อคิวยื่นขอเพียบ (19 ส.ค. 60)

ฐานเศรษฐกิจออนไลน์ 19 สิงหาคม 2560
เปิดเกณฑ์ขอตั้งเขตส่งเสริมฯอีอีซี ชง‘ประยุทธ์’เร่งประกาศใช้-นิคมอุตฯจ่อคิวยื่นขอเพียบ

เปิดหลักเกณฑ์ขอจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมในอีอีซีรับ10กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย นิคมฯจ่อขอเพียบเงื่อนไขต้องมีแผนการลงทุนที่ชัดเจน พร้อมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ“ประยุทธ์”ประกาศใช้ในเร็วๆนี้

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เพื่อให้เอกชนที่มีความสนใจยื่นเรื่องขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมฯใน10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่างๆ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในเร็วๆ คณะกรรมการบริหารฯ จะนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้งเขตส่งเสริมเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ลงนามประกาศใช้ เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลายรายแสดงความสนใจที่จะขอจัดตั้งเป็นเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องเร่งออกหลักเกณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปปฏิบัติ

สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้งเขตส่งเสริมเพื่อกิจการอุตสาหกรรมนั้น จะต้องเป็นพื้นที่ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อทำการจัดสรรที่ดิน เพื่อขายหรือเช่าตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) โดยกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดยเงื่อนไขการจัดตั้งเขตส่งเสริม ผู้ประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติ เป็นนิติบุคคลไทย เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือหลักฐานแสดงการได้มาซึ่งสิทธิครอบครอง หรือหนังสือยินยอมจากเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่เป็นเขตส่งเสริม

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้เสนอโครงการจัดตั้งเขตส่งเสริมจะต้องแสดงแผนที่กำหนดแนวบริเวณให้ชัดเจน รวมทั้ง จะต้องยื่นผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการและความสอดคล้องกับแผนภาพรวมของอีอีซี รวมทั้งผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการกำหนดเขตส่งเสริม ทั้งในภาพรวมของประเทศและในเขตพื้นที่อีอีซี และเสนอรายงานผลกระทบและมาตรการเยียวยาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนหรือชุมชนที่อาจได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อน อีกทั้งผลการศึกษาจากการรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง การจัดทำแผนการลงทุน แผนการเงิน แหล่งเงินทุน และการวิเคราะห์ผลตอบแทนโครงการ เป็นต้น

โดยที่ผ่านมาทางคณะกรรมการนโยบายฯ ได้พิจารณาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท พาร์ค ในบริเวณนิคมฯมาบตาพุดของกนอ.ไปแล้วเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โลจิสติกส์ และการแพทย์ครบวงจรขณะที่มีนิคมที่แสดงความสนใจเช่น นิคมฯเหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ด4รองรับอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ยานยนต์แห่งอนาคตการบินและชิ้นส่วนอากาศยานนิคมฯอมตะมีความพร้อมเป็นเมืองอัจฉริยะด้านการศึกษาและพัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีและนิคมฯปิ่นทอง 5รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต

ส่วนพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีนั้น ขณะมีพื้นที่ในนิคมต่างๆ ประมาณ 1.69 หมื่นไร่ รองรับการขยายตัวของอีอีซีได้ถึงปี 2561และยังมีผู้ประกอบการพัฒนานิคมอีกประมาณ 10-12 ราย ขอตั้งนิคมใหม่ โดยแต่ละรายจะมีที่ดินประมาณ 1.5-2 พันไร่ รวมแล้วกว่า 2 หมื่นไร่ซึ่งเพียงพอในการรองรับอีอีซีในระยะยาว