ศาลเเพ่งไกล่เกลี่ย "คดีบ่อขยะเเพรกษา" สำเร็จ จัดทำแผนฟื้นฟู 9 ข้อ (18 ส.ค. 60)
มติชนออนไลน์ 18 สิงหาคม 2560
ศาลเเพ่งไกล่เกลี่ย คดีบ่อขยะเเพรกษาสำเร็จ จัดทำแผนฟื้นฟู9ข้อ
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมเผยแพร่เอกสารข่าวความคืบหน้าคดีบ่อขยะแพรกษา ที่ชาวบ้านใน ต.แพรกษา อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะ ต.แพรกษา เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2557 รวมตัวกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกรมย์พล สมุทรสาคร ผู้ประกอบกิจการคัดแยกฝังกลบบ่อขยะ นายเด่นตง ตั้งเด่นไชย และนางบุญไทย ตั้งเด่นไชย ทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดิน ต.แพรกษา อ.เมืองสมุทรปราการ เนื้อที่ 153 ไร่ จัดทำเป็นบ่อขยะ และองค์การบริหารส่วนตำบลแพรกษา เป็นจำเลยที่ 1-4 เรื่องละเมิดจากการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่อันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ต่อเนื่อง3ครั้งบริเวณบ่อขยะ
คำฟ้องระบุว่า การประกอบกิจการของจำเลยทั้งสาม ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เกิดเพลิงไหม้จากการประกอบกิจการของจำเลยทั้งสามในพื้นที่3ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่16มีนาคม2557 ครั้งที่2 ระหว่างวันที่4-8เมษายน2557 และครั้งที่ 3ในวันที่12พฤษภาคม2557 คดีนี้ชาวบ้านรวมตัวกันนำคดีมาสู่ศาลแพ่งรวม13คดี มีโจทก์รวม 2,349 คน (รับโอนคดีมาจากศาลจังหวัดสมุทรปราการ 10 คดี) ต่อมาถอนฟ้องจำเลยที่ 4 เพื่อไปแยกฟ้องคดีที่ศาลปกครอง
โดยศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินกระบวนการไกล่เกลี่ย โจทก์ได้รับการบรรเทาผลเสียหายรายละ 3,000 บาท และถอนฟ้องไปแล้วนั้น เหลือเพียงโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 10 โดยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลนัดทำแผนและทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างนายสุชาติ นาคนก กับพวก รวม 457 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายกรมย์พล สมุทรสาคร กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลย โดยคู่ความได้ตกลงร่วมกันจัดทำแผนฟื้นฟูบ่อขยะแพรกษาโดยมีผู้เชี่ยวชาญและหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องให้คำแนะนำตามหลักวิชาการ จนเป็นที่พอใจแก่ทั้งสองฝ่าย และตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามแผนฟื้นฟู การดำเนินการฟื้นฟูอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของคณะกรรมการที่ทางจ.สมุทรปราการจัดตั้ง โดยมีแผนงาน9ข้อ ทั้งนี้ ตามสัญญามีข้อตกลงเกี่ยวกับมาตรการกรณีไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูและค่าใช้จ่ายไว้ และศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว
สำหรับสรุปแผนฟื้นฟูบ่อขยะเนื้อที่ 153 ไร่ 1 งาน 18 ตารางวา รวมถึงสิ่งที่ได้ทำบางส่วนแล้ว มีดังนี้ 1.งานปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณบ่อขยะ 2.งานบริหารจัดการภายในบ่อขยะ โดยออกแบบก่อสร้างโรงรื้อร่อน คัดแยกขยะและระบบจัดการขยะ 3.งานบริหารจัดการคุณภาพน้ำในบ่อขยะด้วยการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย 4.การติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำและอากาศ 5.การดำเนินการกรณีฉุกเฉิน 6.การกำจัดกากตะกอนจากระบบบำบัดน้ำเสีย 7.การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับสาธารณชน 8.เงื่อนไขการยุติการดำเนินการ และ 9.การติดตามผลการปฏิบัติงานตามแผนฟื้นฟู