คชก. ไฟเขียวรายงาน EHIA "โรงไฟฟ้าเทพา" - ยันข้อมูลครบถ้วน ฟังความเห็นรอบด้านแล้ว (18 ส.ค. 60)

Green News TV 18 สิงหาคม 2560
คชก.ไฟเขียวรายงาน EHIA ‘โรงไฟฟ้าเทพา’ ยันข้อมูลครบถ้วน – ฟังความเห็นรอบด้านแล้ว

รายงาน EHIA “โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ผ่าน คชก.แล้ว ระบุข้อมูลครบถ้วน-มีมาตรการมากกว่าปกติ เลขาฯ สผ.ยันยังสร้างไม่ได้ เตรียมส่งต่อ “กก.วล. – ครม.” พิจารณาต่อไป

ที่ประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2560 เตรียมส่งต่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา ขนาด 2,200 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) เนื่องจากเห็นว่ามีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอแล้ว

ทั้งนี้ คชก.ได้สั่งให้ กฟผ.รวบรวมข้อมูลในรายงานEHIA และข้อมูลที่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมทุกฉบับ รวมทั้งข้อมูลที่ปรับแก้ไขตามข้อคิดเห็นของ คชก. จัดทำเป็นรายงานฯ ฉบับสมบูรณ์ เพื่อเสนอให้ สผ.พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอน และนำเสนอ กก.วล.เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับมาตรการสำคัญของโครงการโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งถูกระบุไว้ในรายงานฯ ประกอบด้วย การติดตั้งระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ โดยมีการกำหนดค่าควบคุมการระบายมลพิษที่เข้มงวดกว่ามาตรฐาน รวมทั้งมีการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ระบายออกจากปล่องอย่างต่อเนื่อง (CEMs) ในส่วนของการควบคุมการปลดปล่อยปรอท โครงการได้กำหนดคุณภาพของถ่านหินที่ใช้ให้มีปรอทได้ไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และติดตั้งระบบดักจับปรอทโดยใช้ผงกัมมันต์ (ACI) ซึ่งกำหนดค่าการระบายปรอทออกจากปล่องอ้างอิงตามร่างมาตรฐานสหภาพยุโรป (EU) ที่ไม่เกิน 4 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนปล่อยออกสู่ทะเลแบบต่อเนื่อง พร้อมเปิดเผยข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบ Real Time Online การจัดหาสถานที่ก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่เป็นไปตามความต้องการของคณะกรรมการของโรงเรียน การโยกย้ายชุมชนจะมีการกำหนดให้มีตัวแทนภาคประชาชนเป็นกรรมการร่วมอยู่ในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดินและทรัพย์สินด้วย และกำหนดให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ของ กฟผ. โดยมีผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนภาครัฐหรือหน่วยงานท้องถิ่น ร่วมเป็นกรรมการดัวย

ขณะเดียวกัน สผ.ได้ออกเอกสารชี้แจง โดยระบุว่า คชก.ได้พิจารณารายงาน EHIA ด้วยความเป็นกลาง และเป็นไปตามหลักวิชาการ โดย คชก.ได้ร่วมกันตรวจสอบพื้นที่โครงการและสภาพแวดล้อมโดยรอบ เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2558 และได้ประชุมเพื่อพิจารณารายงานดังกล่าว รวมทั้งรายงานชี้แจงเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง โดยในการประชุมครั้งที่ 35/2560 คชก.ได้พิจารณารายงานฯ รวมทั้งหนังสือและประเด็นการคัดค้านโครงการของ 3 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเครือข่ายนักวิชาการภาคใต้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อประกอบการพิจารณารายงานฯ ด้วยแล้ว

“ในกระบวนการจัดทำและพิจารณารายงาน EHIA ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตลอดทุกขั้นตอน โดยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อย 3 ครั้ง และได้เปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการ สามารถจัดส่งข้อมูลความคิดเห็นหรือข้อวิตกกังวลเพื่อประกอบการพิจารณาได้ตลอด โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการจัดประชุมพิจารณา และที่ผ่านมา คชก.ยังได้เคยเชิญผู้แทนเครือข่ายผู้คัดค้านเข้าร่วมชี้แจงข้อห่วงกังวลและข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 1 ก.ย.2559 ซึ่งเครือข่ายผู้คัดค้านได้มีหนังสือแจ้งไม่เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว” ส่วนหนึ่งของเอกสารชี้แจง ระบุ

นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการ สผ. กล่าวว่า สิ่งที่ต้องสื่อสารให้เข้าใจคือความเห็นของ คชก.ไม่ใช่การอนุมัติอนุญาตโครงการ หรือแปลว่าสร้างได้แล้ว แต่เป็นรายงานที่จะใช้เพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานอนุมัติอนุญาต ซึ่งในที่นี้คือ กก.วล. และยังจะต้องเสนอต่อ ครม.ในขั้นต่อไป