ก.แรงงาน จับมือเยอรมัน พัฒนา "ช่างฝีมือรักษาสิ่งแวดล้อม" ลดภาวะก๊าซเรือนกระจก (20 ส.ค. 60)
มติชนออนไลน์ 20 สิงหาคม 2560
ก.แรงงานจับมือเยอรมัน พัฒนาช่างฝีมือรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะก๊าซเรือนกระจก
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้ลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ทำให้ประเทศไทยต้องมีการปฏิบัติตามกติการะหว่างประเทศ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคีในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 แนวทางหนึ่งคือต้องมีการปรับปรุงเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โดยการใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติ เป็นสารชนิดใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก (Global Warming) แต่อย่างไรก็ตามแรงงานในสาขานี้ยังขาดช่างชำนาญการ จึงต้องมีการเร่งผลิตแรงงานฝีมือป้อนสู่ตลาด พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เร่งดำเนินการ ซึ่งได้เน้นย้ำว่าการพัฒนาฝีมือแรงงานจะต้องเสริมทักษะด้านความรู้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Job) ด้วย
นายธีรพล ขุนเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กพร. ได้ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (Deutsche Gesellschaft Fur International Zusammenarbeit: GIZ) เป็นองค์กรหลักของเยอรมันที่ช่วยให้ประเทศต่างๆ บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการพัฒนาฝีมือแรงงานช่างเทคนิคเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่ใช้สารทำความเย็นจากธรรมชาติ และการพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือสูงขึ้นสอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสมัยใหม่โดยเฉพาะสารทำความเย็นจากธรรมชาติ รองรับการเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรการฝึกเตรียมเข้าทำงาน หลักสูตรการฝึกยกระดับฝีมือแรงงาน อุปกรณ์การฝึกของกพร. ให้มีความพร้อมในการฝึกอบรมให้แก่แรงงาน พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ส่งเสริมให้เครือข่ายของกพร.เป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานในสาขานี้ และการประเมินความรู้ความสามารถตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2557 และ GIZ ให้การสนับสนุนเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาครูฝึกของกพร. เพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานใหม่ แรงงานในสถานประกอบกิจการ รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมด้านการพัฒนาทักษะแรงงานสีเขียวและกิจกรรมอื่นๆ ทั้งสองหน่วยงานจะมีการลงนามความร่วมมือระหว่างกันอีกด้วย
“ความร่วมมือในครั้งนี้มีประโยชน์อย่างมาก เพราะเป็นการสร้างกำลังแรงงานที่เป็นไปตามหลักสากลที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ เป็นการสร้างงานที่ช่วยสร้างเศรษฐกิจซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในที่สุดจะนำไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม ให้แก่องค์กรและประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ประชาชนและสถานประกอบกิจการหันมาสนใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ” อธิบดีกพร. กล่าว