เร่งคุยญี่ปุ่น-เกาหลี-เยอรมนีเป็นต้นแบบดันไทยสู่ 4.0 (26 ก.ค. 60)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 26 กรกฎาคม 2560
อุตฯเร่งคุยญี่ปุ่น-เกาหลี-เยอรมนีเป็นต้นแบบดันไทยสู่ 4.0 

“อุตตม” เร่งเครื่องคุยญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ดันอุตสาหกรรมไทยไปสู่ 4.0 พร้อมดึงศูนย์ ITC-Coworking Space สร้างโค้ชชิ่ง ห้องแล็บ ผุดนวัตกรรมใหม่

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานการประชุมวิชาการ สศอ.(OIE Forum) ประจำปีงบประมาณ 2560 ในหัวข้อ “Industry 4.0 Roadmap : มิติใหม่สู่ประเทศไทย 4.0” ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เตรียมเจรจากับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเยอรมนี โดยมีเป้าหมายเพื่อนำองค์ความรู้ กระบวนการ วิธีการมาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงในอนาคต ตาม Roadmap ยุทธศาสตร์ที่วางไว้

“เกือบ 1 ปี ที่รัฐบาลประกาศนโยบายประเทศไปสู่ Thailand 4.0 โดยใช้เรื่องของ Industry 4.0 เป็นตัวนำ หากประเมินภาพรวมของอุตสาหกรรมขณะนี้มีสัดส่วนประมาณ 10% เท่านั้น ที่สามารถพัฒนาตนเองไปถึง 4.0 แต่ยังไม่ถึง 50% จึงต้องการดึงให้ต่างประเทศมาเป็นต้นแบบสอนทั้งกระบวนการ วิธีการ การเชื่อมโยงในรูปแบบของคลัสเตอร์ครบวงจรทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เช่น มีรายใหญ่ก็ต้องมีรายเล็ก ทำอย่างไรจะเอื้อสนับสนุนกันได้ รวมถึงการวิจัยรูปแบบไหนจะสนับสนุนงานธุรกิจ SMEs ได้”

โดยความร่วมมือกับต่างประเทศจะเป็นการสนับสนุน อาทิ อุปกรณ์ เครื่องมือในการเข้าไปช่วยด้านงานวิจัย การสร้างผู้เชี่ยวชาญหรือ (Coaching) โดยใช้ศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมสู่อนาคต Industry Transformation Center (ITC) ของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ที่กล้วยน้ำไท และศูนย์ Coworking Space ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ที่แหลมฉบัง ซึ่งจะใช้เป็นศูนย์อบรม ทดลอง ประชุม เทรนนิ่ง สร้างสินค้าต้นแบบสำหรับ SMEs

สำหรับแนวทาง Roadmap ในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย โดยกำหนดแผนพัฒนาและขับเคลื่อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ระยะแรกในปี 2560 จะดำเนินการใน 4 สาขานำร่อง คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม 4.0 (Ecosystem) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ ต้องเชื่อมโยงเข้ากับการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้สอดคล้องและเกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ เช่น การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยกำหนดเป้าหมายแผนการลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว ที่จะทำให้เกิดมูลค่าการลงทุนรวมจากทั้งภาครัฐและเอกชนประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ใน 5 ปีแรก

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0 โดยการสร้างเครือข่ายและกลไกความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งในและระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่การจัดทำ Roadmap ทั้งในด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาเทคโนโลยี ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้แนวทางประชารัฐภายใต้ความร่วมมืออย่างบูรณาการ จากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และองค์กรในระดับพื้นที่

ขณะเดียวกันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ห่วงโซ่การผลิตในระดับโลก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดแพลตฟอร์มความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ เช่น การทำ MOU ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมของไทย กับกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (METI) ของญี่ปุ่น, การทำ MOU กับสำนักงานธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMBA) เกาหลีใต้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนและถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังจัดตั้งคณะทำงานประชารัฐไทย-เยอรมัน เพื่อการพัฒนา ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สอดคล้องและส่งเสริมกัน

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาทักษะและฝีมือแรงงานเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 กระทรวงอุตสาหกรรมได้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการพัฒนากำลังคนเข้าสู่ยุค 4.0 จึงได้มีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนา Industry 4.0 ทั้งในด้านการผลิตกำลังคน การพัฒนามาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ในระบบทวิภาคี/สหกิจศึกษา การพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve

โดยในปี 2561 มีการวางแผนการพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวน 100,000 คน และให้ความสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในห่วงโซ่การผลิตและเป็นรากฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสนับสนุนมาตรการทางการเงิน ผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อและกองทุนต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน รวมวงเงินทั้งสิ้น 38,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และมาตรการส่งเสริมที่ไม่ใช่ด้านการเงินเพื่อยกระดับศักยภาพของ SMEs ให้เป็น Smart SME, S-Curve SME, Digital SME โดยการส่งเสริมพัฒนาในด้านต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยีและดิจิทัล การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด ด้านมาตรฐาน ด้านการบริหารจัดการ ผ่านเครื่องมือ/กลไกการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับ SMEs ในแต่ละกลุ่ม