กลุ่ม "นักวิจัยอิสระ" เผยสารหนูประชาชนรอบเหมืองทองสูงขึ้น 5.5 เท่า "หลังกินอาหารทะเล" (24 ก.ค. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2560
นักวิจัยเผยเหตุสารหนูในร่างกายประชาชนรอบเหมืองทองสูงขึ้น 5.5 เท่าหลังกินอาหารทะเล
นักวิจัยพิจิตรเผยเหตุสารหนูในร่างกายประชาชนรอบเหมืองทองสูง พบประชาชนมีสารหนูสูงขึ้นถึง 5.5 เท่า หลังรับประทานอาหารทะเล!
องค์การบริหารส่วนตำบลเขาเจ็ดลูก อ. ทับคล้อ จ. พิจิตร คณะแพทย์ภายใต้กลุ่มนักวิจัยอิสระโครงการ “ศึกษาระดับของสารหนูในปัสสาวะหลังกินอาหารทะเล เปรียบเทียบกับอาหารอื่นในประชากรรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี” นำโดย นายแพทย์ ยงยศ จริยวิทยาวัฒน์ เผยผลการการศึกษา หลังเชิญชาวบ้านรอบเหมืองจำนวน 97 คนพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา
โดยพบสารหนูพุ่งสูงถึง 5.5 เท่า หลังรับประทานอาหารทะเลเมื่อเปรียบเทียบกับค่าก่อนกิน ขณะที่ผู้รับประทานอาหารทั่วไปไม่พบสารหนูเกินเกณฑ์มาตรฐาน แนะหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องนำผลการศึกษาที่ได้ไปต่อยอด และสื่อสารกับประชาชนรอบเหมืองฯ ต่อเนื่องเพื่อคลายความกังวลใจ ย้ำหากหน่วยงานรัฐ-นักวิชาการ ต้องการศึกษาเพิ่มเติมควรแจ้งชาวบ้านปฏิบัติตัวตามหลักระบาทวิทยาคือ งดอาหารที่มีสารหนู โดยเฉพาะอาหารทะเลอย่างน้อย 3 วัน เพื่อผลการตรวจที่แม่นยำ
นพ.ยงยศ จริยวิทยาวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มนักวิจัยอิสระ อดีตอาจารย์สอนวิชาวิจัยศูนย์แพทย์ศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลพุธชินราช และคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองมีโอกาสทำงานตรวจสุขภาพและรักษา ประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี จ.พิจิตร ตามมาตรการอีเอชไอเอ (EHIA) มาอย่างต่อเนื่อง และทีมวิจัยอันประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นพ.นภดล สุชาติ นักวิจัยอิสระ อดีตอาจารย์สอนวิชาวิจัยศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลพุทธชินราช และอดีตรองคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ หมาวิทยาลัยนเรศวร และ นพ.ธีระ ศิริอาชาวัฒนา นักวิจัยอิสระ อดีตอาจารย์สอนวิชาวิจัยศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา โรงพยาบาลพุทธชินราช อดีตประธานคณะกรรมการการวิจัยจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ โรงพยาบาลพุทธชินราช และผู้เขียนตำราวิธีวิจัย ตัดสินใจลงพื้นที่ค้นหาความจริงกรณีข้อถกเถียงถึงการตรวจพบสารหนูในร่างกายของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ซึ่งมีทั้งข้อมูลสนับสนุนและหักล้างข้อกล่าวหาที่อ้างว่าเหมืองแร่ทองคำดังกล่าวเป็นต้นเหตุ
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเปรียบเทียบค่าสารหนูในกลุ่มประชาชนรอบเหมืองกลับพบว่า ที่ผ่านมานั้นมีค่าไม่แตกต่างจากกลุ่มประชาชนในจังหวัดอื่นๆ หรือต่ำกว่าด้วยซ้ำ เช่นจังหวัดระยองที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าคนรอบเหมือง 4.5 เท่า จึงหวังนำงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาระดับของสารหนูในปัสสาวะหลังกินอาหารทะเล เปรียบเทียบกับอาหารอื่นในประชากรรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี” มาเปิดเผย เพื่อคลายความกังวลของประชาชนที่อยู่รอบเหมืองทองฯ ให้ทราบข้อเท็จจริง สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติต่อไป
ตาราง 1.1 เปรียบเทียบค่าสารหนูของกลุ่มกินอาหารทะเล (seafood) และกลุ่มกินอาหารทั่วไป (control) ก่อนกินอาหาร (0 Hr.) หลังกินอาหาร 12 (12 Hr.) และ 72 ชั่วโมง (72 Hr.)
“จากการศึกษากลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีในรัศมี 5 กิโลเมตร จำนวน 97 คน โดยแบ่งเป็นผู้รับประทานอาหารทะเลจำนวน 46 คน และผู้ที่รับประทานอาหารทั่วไปจำนวน 51 คน ทำการวัดสารหนู 3 ช่วงเวลา คือ 1.ก่อนรับประทานอาหาร 2.หลังรับประทานอาหาร 12 ชม. 3.หลังรับประทานอาหาร 72 ชม. พบว่ากลุ่มที่รับประทานอาหารทะเลไปแล้ว 12 ชม. มีสารหนูเพิ่มสูงขึ้น 5.5 เท่า และเมื่อเวลาผ่านไป 72 ชม. พบมีค่ากลับมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่แตกต่างกับตอนก่อนที่จะรับประทานอาหารทะเล สอดคล้องกับผลการวิจัยของต่างประเทศที่พบว่าเมื่อรับประทานอาหารทะเลจะทำให้ค่าสารหนูในร่างกายเพิ่มขึ้นสูง ต่างจากกลุ่มที่รับประทานอาหารทั่วไป ที่ค่าสารหนูก่อนและหลังรับประทานอาหารไม่แสดงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (ตามตาราง 1.1) ดังนั้น อาจสรุปได้ว่าค่าสารหนูที่พบในกลุ่มตัวอย่างประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรีนั้นอาจมาจากการบริโภคอาหารทะเล”
อย่างไรก็ดี การวัดค่าสารหนูในร่างกายที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐ นักวิชาการจะต้องแจ้งให้ผู้ที่รับการตรวจสารหนูปฏิบัติตัวตามหลักระบาทวิทยาคือ งดอาหารที่มีสารหนู โดยเฉพาะอาหารทะเลเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน มิฉะนั้นค่าสารหนูที่วัดจะไม่สามารถนำมาใช้ได้
“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลการศึกษาในครั้งนี้ซึ่งเป็นการศึกษาครั้งแรกของประเทศไทย จะเป็นประโยชน์และเป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์ที่มาของสารหนูในร่างกายของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี และสามารถสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนในชุมชนได้” นพ.ยงยศ จริยวิทยาวัฒน์ ตัวแทนกลุ่มนักวิจัยอิสระ กล่าว
ขณะที่นายคมสัน ขวัญแก้ว หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ กล่าวว่าก่อนหน้าที่จะได้เข้าร่วมวิจัย ตนไม่มีความเข้าใจในเรื่องสารหนูเลย ทราบแต่ว่าร่างกายไม่ควรมีสารเหล่านี้อยู่ ซึ่งมาทราบความจริงตอนหลังว่าสารหนูมีอยู่ตามธรรมชาติในอาหารหลายชนิดที่เรารับประทานทุกวันนี้ โดยเฉพาะในอาหารทะเล จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมผลการตรวจร่างกายที่ผ่านมามีค่าสารหนูสูง
ด้านนางเรณู ทาแดงหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างมาก ทำให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงตามหลักวิชาการที่ถูกต้อง คลายความกังวลที่มีก่อนหน้านี้ให้หมดไป เนื่องจากที่ผ่านมามีนักวิชาการและหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาตรวจหาสารหนูในร่างกายประชาชนรอบเหมืองทอง แต่ไม่มีการสรุปถึงสาเหตุที่มาของสารหนูในร่างกาย ได้แต่เพียงนำค่าสารหนูมาบอกเท่านั้น ส่งผลให้ชาวบ้านหลายคนตื่นกลัว ประกอบกับผู้ไม่หวังดีบางกลุ่มใช้ความไม่รู้ของชาวบ้านมาปลุกปั่นให้เกิดความกังวล