จับตาโครงการโรงไฟฟ้าสตึงนัมส่อจ่ายค่าไฟแพง!! (25 ก.ค. 60)

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 25 กรกฎาคม 2560
จับตาโครงการโรงไฟฟ้าสตึงนัมส่อจ่ายค่าไฟแพง!!

จับตาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม คนไทยส่อจ่ายค่าไฟแพงมหาโหด!!

แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2560 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท Steung Meteuk Hydropower จำกัด (SMH) เป็นผู้พัฒนา ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ประเทศกัมพูชา ลงนามในเอ็มโอยูร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือด้านพลังงานและบริหารจัดการน้ำระหว่างไทยกับกัมพูชา 

ทั้งนี้สาระสำคัญในเอ็มโอยูกำหนดให้ กฟผ.ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า (PPA) มีระยะเวลา 50 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ โดยกำหนดรับซื้อค่าไฟ 10.75 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตุว่า ค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าสตึงนัมที่ขายกลับมาประเทศไทยในราคา 10.75 บาทต่อหน่อย ถือว่าแพงมาก เมื่อเทียบกับราคาค่าไฟฟ้าในประเทศไทยที่แยกตามเชื้อเพลิง 

โดยราคาไฟจากพลังน้ำ 1.59 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2.83 บาทต่อหน่วย โรงไฟฟ้าชีวมวล 3.32 บาทต่อหน่วย พลังงานลม 6.46 บาทต่อหน่วย พลังงานขยะ 6.53 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ 10.30 บาทต่อหน่วย 

แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า โครงการสตึงนัม ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนาด 24-50 เมกะวัตต์ และส่งน้ำทางท่อให้ไทยเฉลี่ย 300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีบริษัท ทีอาร์ซี อนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บิหารและจัดการน้ำทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ปริณน้ำ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรนั้น มีความพยายามจะวางแผนให้มีการสร้างท่อส่งน้ำจากโครงการโรงไฟฟ้าสตึงนัม ผ่านชายแดนบริเวณจังหวัดตราด มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง ระยะทาง 200 กม. ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 70,000 ล้านบาท ทั้งๆที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ก็มีน้ำปริมาณมากอยู่แล้ว และมีทางเลือกอื่นที่จะผันน้ำจากแหล่งอื่นๆที่มีต้นทุนถูกกว่า 

แต่สิ่งสำคัญคือ หากไม่สามารถผันน้ำจากโครงการสตึงนัมมายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ได้ อาจส่งผลให้โครงการเดินหน้าต่อไม่ได้ เพราะโครงการสตึงนัมไม่สามารถผันน้ำลงสู่ทะเลได้ เพราะติดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้จะมีการเสนอโครงการดังกล่าวให้กพช.พิจารณาในวันที่ 31 ก.ค.2560 นี้