ดัน "บ้านฉางโมเดล" นำร่อง "เมืองใหม่เชิงนิเวศในพื้นที่อีอีซี" (26 ก.ค. 60)
MGR Online 26 กรกฎาคม 2560
ดัน “บ้านฉางโมเดล” นำร่องพัฒนาเมืองฯ เมืองใหม่เชิงนิเวศในพื้นที่อีอีซี
กรมโรงงานจับมือภาคเอกชนดัน “บ้านฉางโมเดล” นำร่องพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อีอีซี จากทั้งหมด 18 พื้นที่ใน 15 จังหวัด
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเสนอแผ่นแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (อีโค อินดัสเทรียล ทาวน์) ปี 2561-64 เพื่อพัฒนา 18 พื้นที่ใน 15 จังหวัดให้เป็นเมืองใหม่เชิงนิเวศ โดยพื้นที่นำร่องที่ดำเนินการก่อนในพื้นที่ บ้านฉางโมเดล อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซี ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ หากได้รับการอนุมัติก็เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ ตอบโจทย์การพัฒนาอีอีซีตามนโยบายรัฐบาล
นายเดชา พิมพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรอ.กล่าวว่า กรมฯ ได้ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการคัดเลือกพื้นที่ โดยเลือกพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง คาดว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซีปลายเดือนกรกฎาคมนี้
“บ้านฉางเป็นพื้นที่ที่ประชาชนให้การสนับสนุน ขนาดพื้นที่จำนวน 1,400 ไร่ จำนวนประชากร 11,000 คน หลักการพัฒนาจะทำเป็นคอมเพล็กซ์ ให้มีการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การค้า ศูนย์บริการลอจิสติกส์ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด ร่วมเป็นเจ้าของตั้งเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่การขายสิทธิให้กับนักลงทุน ขณะเดียวกันก็สามารถรับประชาชน หรือนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันได้” นายเดชากล่าว
สำหรับภาพรวมพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศกำหนดไว้ 15 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม ปทุมธานี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ของแก่น สงขลา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งในแต่ละจังหวัดกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกจังหวัด ออกแบบโครงการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลา 20 ปี จะทำให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไม่ต่ำกว่า 45 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต