สปท. เห็นชอบรายงานจัดตั้ง "ศาลสิ่งแวดล้อม" ยึดหลัก "ผู้ก่อมลพิษ" ต้องชดใช้ค่าเสียหาย (19 ก.ค. 60)
Green News TV 19 กรกฎาคม 2560
สปท.เห็นชอบรายงานจัดตั้ง ‘ศาลสิ่งแวดล้อม’ ยึดหลัก ‘ผู้ก่อมลพิษ’ ต้องจ่ายชดใช้ค่าเสียหาย
ที่ประชุม สปท.เห็นชอบแนวทางการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม เป็นศาลชำนัญพิเศษภายใต้ศาลยุติธรรม ดำเนินการแพ่ง-อาญา-ปกครอง ยึดหลักการผู้ก่อมลพิษต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) เมื่อวันที่ 18 ก.ค.2560 มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปท. เรื่องแนวทางการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม ด้วยคะแนน 90 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงยุติธรรม พิจารณาต่อไป
นายสยุมพร ลิ่มไทย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะคณะทำงานของ กมธ. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สปช.เคยเสนอแนะให้จัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมขึ้นเป็นศาลชำนัญพิเศษ (ศาลที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง) ซึ่งควรเป็นศาลศาลชำนัญพิเศษในศาลยุติธรรมโดยต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 3 รูปแบบคือ แพ่ง อาญา และคดีปกครอง และต้องเป็นไปตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เพื่อให้เป็นการป้องปรามไม่ให้ก่อความเสียหายให้กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้กลไกของศาลยุติธรรมมีความพร้อมในการดำเนินการอยู่แล้ว
นายสยุมพร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา การดำเนินการเกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังไม่เป็นไปตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย เนื่องจากประเทศใช้ระบบศาลคู่ คือนอกจากศาลยุติธรรมแล้วยังมีศาลอื่นๆ คือศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเมื่อใช้ระบบศาลคู่คดีสิ่งแวดล้อมก็จะถูกแยกส่วนในการพิจารณาคดี อย่างน้อย 3 ส่วน คือคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีปกครอง
ทั้งนี้ เมื่อคดีสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ศาลปกครอง ขอบเขตความรับผิดชอบเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ คำพิพากษาส่วนใหญ่จะให้รัฐชดใช้ความเสียหาย แทนที่จะให้เอกชนที่เป็นผู้ก่อความเสียหายต้อง รับผิดชอบ จึงไม่เป็นตามหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่ายรัฐต้องจ่ายแทน เช่น คดีมาบตาพุด คดีลำห้วยคลิตี้ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่รัฐต้องสูญเสียค่าชดเชยจำนวนมาก
“เพื่อพัฒนาระบบนิติรัฐและพัฒนาประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับการดำเนินการในระดับสากลและสอดคล้องกับการพัฒนาศาลสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมีลักษณะเบ็ดเสร็จที่จุดเดียวแบบวันสต็อปเซอร์วิส และเพื่ออำนวยความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อมให้ประชาชนมากที่สุด จึงควรจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมให้เป็นศาลชำนัญพิเศษในศาลยุติธรรม” นายสยุมพร กล่าว