"สื่อ" อำนาจในมือพลเมือง: MIDL สนทนาการรู้เท่าทันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (20 ก.ค. 60)
Citizen Thai PBS 20 กรกฎาคม 2560
“สื่อ” อำนาจในมือพลเมือง MIDL สนทนาการรู้เท่าทันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง
วงสัมมนา MIDL หนุนพลเมืองใช้สื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง นักวิจัยจากอเมริการะบุถึงยุคสมัยแห่งการเท่าทันสื่อ เสริมพลังให้เสียงที่ถูกละเลย ด้าน “สุภิญญา” ชี้เมื่อโลกเปลี่ยนคนต้องปรับตัว โดยเฉพาะรัฐต้องเปลี่ยนความคิด แนะเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนอิสระ สร้างพลเมืองดิจิตอลที่มีคุณภาพ หนุนใช้เทคโนโลยีสร้างพลังความคิด- สังคมตื่นรู้
วันนี้ (20 ก.ค. 2560) สัมมนา “การรู้ทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL: อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง (Conference on Media, Information and Digital Literacy for Social Justice: Empowering Citizens to Create Change) จัดโดย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ร่วมกับศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย (Thai Civic Education Center) ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ
เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันเด็กและเยาวชน (สสย.) กล่าวว่า จากข้อมูลของ Internet World Stats ปี 60 พบว่า มีผู้ใช้อินเตอร์เนตทั่วโลก ประมาน 3,007 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชีย ขณะที่ประเทศไทย สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDAได้เปิดเผยผลสํารวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ปี 2559 ทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พบว่า ในภาพรวมทั้งการใช้งานผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่และคอมพิวเตอร์ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือประมาณ6.4 ชั่วโมงต่อวัน โดยเพศที่สาม และGen Yเป็นกลุ่มที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงที่สุด อยู่ที่ 48.9ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 53.2ชั่ วโมงต่อสัปดาห์
“ทั้งนี้ กิจกรรมยอดนิยม 5 อันดับแรกที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตนิยมทําผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ ได้แก่ การพูดคุยผ่าน Social Network ร้อยละ 86.8 รองลงมาเป็นการดูวิดีโอผ่าน YouTube ร้อยละ 66.6 การอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 55.7 การค้นหาข้อมูลร้อยละ 54.7 ในส่วนของสื่อสังคมออนไลน์ยอดนิยม 3อันดับ พบว่า อันดับแรก ได้แก่ YouTube มีผู้ใช้งานมาก ถึงร้อยละ 97.3 รองลงมา คือ Facebook และ Line มีผู้ใช้งานคิดเป็นร้อยละ 94.8 และ 94.6 ตามลําดับ”
ผู้จัดการ สสย.ระบุว่า ผลสํารวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนยุคปัจจุบันใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต เข้าถึงข้อมูลสารสนเทศจํานวนมาก ผ่านสื่อดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันปัญหาภาพรวมจาก Social Media อาทิ ใช้สื่อไปในทางที่ไม่เหมาะสมก่อให้เกิดความรุนแรง หรือสร้างความเกลียดชัง ซึ่งผู้ใช้สื่อเองอาจยังขาดความเข้าใจและทักษะในยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่คนยุคใหม่ในยุคดิจิทัลควรมีทักษะที่จําเป็นสําหรับการเข้าถึงข้อมูลความรู้ อันจะนําไปสู่การสร้างแรงขับเคลื่อนและเป็นเครื่องมือและทักษะสําคัญของพลเมืองในการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งในเชิงสร้างสรรค์ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตย และสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยให้เกิดขึ้นทุกระดับในสังคมโดยยึดความยุติธรรมทางสังคมเป็นหลักการสำคัญ
Pam Steager นักวิจัยและนักเขียนอาวุโสของ Media Education Lab ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะการสื่อสารและสื่อ (the Harrington School of Communication and Media) มหาวิทยาลัยแห่งโรดไอส์แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ไม่มีเวลาใดที่จะสำคัญไปกว่านี้อีกแล้ว ในการที่ประชาชนจะพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อ เมื่อประชาชนมีสมรรถนะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล โดยพวกเขาจะรู้จักรับและใช้สื่อ รวมทั้งยังได้รับการเสริมพลัง ที่จะส่งเสียงแทนบรรดาเสียงที่หายไปและมุมมองที่ถูกละเลยในชุมชน
“การที่ประชาชนเห็นปัญหาและพยายามแก้ไขปัญหา แสดงว่าพวกเขาใช้เสียงอันทรงพลังและสิทธิตามกฎหมายของตนเพื่อเปลี่ยนโลกรอบตัวเขาให้ดีขึ้น ในยุคที่ความเป็นดิจิทัลเข้มเพิ่มเรื่อย ๆ ความสามารถในการเข้าถึง วิเคราะห์ ประเมิน และสร้างสรรค์สารจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการรู้เท่าทันในยุคศตวรรษที่ 21 ดังนั้น การประชุม ‘MIDL อำนาจในมือพลเมือง ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง’ จึงเป็นช่วงเวลาอันเหมาะเจาะที่เราจะได้สำรวจทักษะ สมรรถนะ และแนวปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างที่ดีเหล่านี้” นักวิจัยระบุ
ด้าน สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แสดงความคิดเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมาเร็วและแรงมาก โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร ทำให้เราต้องปรับตัวให้ทัน ด้วยการทำให้พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รอบด้าน วิเคราะห์ได้ด้วยข้อมูลและเหตุผล แสดงออกด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน เป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยการมีโอกาสที่จะตั้งคำถาม ถกเถียง และแสดงทางความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ ปราศจากความกลัวที่ไม่สมเหตุผล แต่มีมิตรไมตรีซึ่งกันมากขึ้น
คนรุ่นเก่าที่เพิ่งเข้าสู่ยุคดิจิทัล (digital immigrant) และคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับยุคดิจิทัล (digital native) จำเป็นต้องมีพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เพื่อลดช่องว่าง สร้างความเข้าใจ ประชาธิปไตยจะเติบโตได้เมื่อเรายอมรับฟังกันและกันด้วยเหตุผล
อย่างไรก็ตาม คนที่ต้องปรับตัวมากที่สุดก็คือรัฐ เพราะรัฐยังอยู่ในกรอบความคิดแบบเดิมและไม่เปิดกว้าง ซึ่งขัดกับหลักประชาธิปไตย โดยสังคมที่จะเป็นประชาธิปไตยได้คือสังคมที่ยอมรับซึ่งกันและกัน คุยกันด้วยเหตุผล เคารพสิทธิของพลเมือง และสามารถทำให้พลเมืองอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หากรัฐไม่เปลี่ยนวิธีคิดหรือปรับตัวให้เท่าทัน คนที่จะถูกทิ้งก็คือรัฐ แต่ระหว่างนั้นก็จะมีคนที่เจ็บปวดไปด้วยนั่นคือประชาชน
อดีต กรรมการ กสทช. ระบุด้วยว่า การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัล ควรจะเสริมในการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของพลเมืองอย่างมีอารยะ มากกว่าที่จะลดทอนคุณค่าของการสื่อสารนั้น สังคมจะเข้มแข็งได้เมื่อพลเมืองมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่จะคิด ตั้งคำถาม ตรวจสอบความจริง และยอมรับความแตกต่างกันได้ เทคโนโลยีก็ควรจะเป็นเครื่องมือสู่ความเข้มแข็งของพลเมือง ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของรัฐที่จะควบคุมสั่งการ หรือทุนที่จะครอบงำ ตักตวงประโยชน์อย่างเดียว
“เราควรใช้เทคโนโลยีการสื่อสารมาช่วยทำให้พลเมืองมีพลังทางความคิดที่จะตั้งหลักรับมือถ่วงดุลกับอำนาจของความไม่รู้ทั้งหลายเพื่อสร้างสงคมที่ตื่นรู้ ด้วยการสร้างพลเมืองที่ตื่นรู้ตั้งแต่ในบ้าน โรงเรียน สังคม จนสู่โลกที่กว้างใหญ่ไร้พรหมแดน การปิดประตู หน้าต่างบ้านเพื่อหลีกหนีมลภาวะ ไม่ใช่ทางออก แต่การทำให้คนในบ้านเข้มแข็งได้ต่างหาก คือคำตอบ แต่เป็นภารกิจที่ท้าทายทุกฝ่ายมาก และเป็นงานที่ต้องทำกันตลอดชีวิตของเรา” สุภิญญา ระบุ