ผลศึกษาเหมืองทอง จ.เลย พบ "โลหะหนัก" พุ่ง - สารหนู อยู่ระดับ "รับไม่ได้" (30 มิ.ย. 60)
Green News TV 30 มิถุนายน 2560
ผลศึกษาเหมืองทอง จ.เลย พบ ‘โลหะหนัก’ พุ่ง ค่าความเสี่ยงสุขภาพ ‘สารหนู’ อยู่ระดับรับไม่ได้
มูลนิธิบูรณะนิเวศและศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา นำเสนอผลศึกษา “เหมืองทองคำ” จ.เลย พบโลหะหนักปนเปื้อนทั่ว “สารหนู” อยู่ระดับเสี่ยงสุขภาพที่รับไม่ได้
นายอัครพล ตีบไธสง เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยในเวทีสัมมนา “ข้อเท็จและความจริง: เหมืองทองคำ จังหวัดเลย” ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2560 ตอนหนึ่งว่า จากผลศึกษาการปนเปื้อนโลหะหนักในตะกอนดินของพื้นที่รอบเหมืองทองคำ จ.เลย บริเวณร่องห้วยเหล็ก ห้วยผุก ลำน้ำฮวย และภูซำป่าบอน จำนวน 20 ตัวอย่าง ในปี 2559 พบว่ามีโลหะหนักปนเปื้อนที่สำคัญคือ สารหนู แคดเมียม และทองแดง โดยเฉพาะในบริเวณห้วยเหล็กใต้บ่อเก็บกากแร่ ทั้งฝั่งภูเหล็กและฝั่งตรงข้าม
ทั้งนี้ เมื่อนำผลการศึกษามาประเมินระบบความเสี่ยงทางสุขภาพ พบว่าสารหนูมีค่าความเสี่ยงหากเด็กได้รับอยู่ในระดับที่ยอมรับไม่ได้และอาจมีปัจจัยเสี่ยง ส่วนในผู้ใหญ่นั้นอยู่ในระดับเฝ้าระวัง ขณะที่สารโลหะหนักประเภทแคดเมียนในเด็กและผู้ใหญ่ มีระดับความเสี่ยงทางสุขภาพอยู่ในระดับไม่ปกติ และมีความรุนแรง
น.ส.อัฏฐพร ฤทธิชาติ ฝ่ายเทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ในส่วนของการสื่อสารความเสี่ยงของหน่วยงามรัฐแก่ประชาชนในพื้นที่ พบว่ามี 4 ประเด็น คือ 1.ไม่มีการรายงานผลการดำเนินโครงการเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นทางการต่อสาธารณะ 2.ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้าไม่ถึงข้อมูลผลตรวจสุขภาพของตัวเอง 3.ขาดการวิจัยและการบ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างอาการเจ็บป่วยกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และ 4.ยังไม่มีมาตรการการเยียวยาและฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนที่ชัดเจน
น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า จากการตรวจสอบมาตรการในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการเหมืองแร่ทองคำ จ.เลย พบว่าได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เมื่อปี 2541 แต่ต่อมาเกิดข้อเรียกร้องจากประชาชนในพื้นที่ให้มีการตรวจสอบ จนพบว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขอีไอเอ เช่น ปล่อยให้มีไซยาไนด์เจือปนในกากแร่สูงเกินกว่าค่าที่กำหนด เป็นต้น
ด้าน น.ส.วิมลิน แกล้วทนง นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญพิเศษ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คพ.ได้มีการร่างกรอบแผนปฏิบัติการลดและป้องกันการปนเปื้อนในพื้นทีลุ่มน้ำเลย บริเวณ ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย โดยประเด็นสำคัญในการดำเนินงานภายใต้แผนฯ คือการควบคุมการแพร่กระจายมลพิษจากแหล่งกำเนิด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การถ่ายถอดความรู้ในการจัดการความเสี่ยง การเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและติดตามผลการแก้ปัญหา รวมทั้งการศึกษาวิจัยเพื่อการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน
ศ.ทาคาชิ มิยากิตะ ผู้อำนวยการภาคสนาม ศูนย์วิจัยเปิดมินามาตะศึกษา มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทิศทางและการดำเนินงานที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ อ.วังสะพุง คือการนำทรัพยากรธรรมชาติและภูปัญญาท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยทางศูนย์วิจัยฯ พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลให้กับชุมชนในหมู่บ้าน บุคคลภายนอกทั้งในและต่างประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกัน