ปชช. 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จ่อร้องหน่วยงานรัฐไทย - ปมสร้าง "เขื่อนปากแบง" บนแม่น้ำโขง (7 มิ.ย. 60)

ประชาไท 7 มิถุนายน 2560
ปชช. 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จ่อร้องหน่วยงานรัฐไทยปมสร้างเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยืนฟ้องหน่วยงานรัฐไทยกรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากการก่อสร้างโครงการเขื่อนปากแบงบนแม่น้ำโขง ในวันที่ 8 มิ.ย. นี้

7 มิ.ย. 2560 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ว่า ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น ที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ กลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จะยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง กรณีผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขง ในแขวงอุดมไซ ลาว โดยจะเป็นเขื่อนที่ 3 ที่กั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ถัดจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง 

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า โครงการเขื่อนปากแบง จะกั้นแม่น้ำโขงในลาว ซึ่งอยู่ท้ายน้ำจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ไปเพียงราว 92 กิโลเมตร บริษัทต้าถัง อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป ประเทศจีน เป็นผู้พัฒนาโครงการ โดยคาดว่าจะผลิตไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ และมีแผนที่จะส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทยเป็นหลัก 

โครงการเขื่อนปากแบง  Pak Beng Dam กำลังอยู่ในขั้นตอนการแจ้งและปรึกษาหารือล่วงหน้า PNPCA ตามในข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ.2538 ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 6 เดือน วันที่ 19 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) แห่งชาติ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ได้นำเสนอผลรายงานการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคต่อรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม และรายงานผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ซึ่งมีการพิจาณาประเด็นสำคัญ ๆ 5 ด้านคือ ระบบน้ำและการระบายตะกอน การประมงและทางปลาผ่าน ความปลอดภัยของเขื่อน การเดินเรือ และผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจ จากการศึกษาผู้เชี่ยวชาญได้พบว่ารายงานจำนวน 20 เล่มที่ บริษัทต้าถัง ส่งให้กับเอ็มอาร์ซี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 พบว่ามีข้อบกพร่องจำนวนมาก เช่น การประมงและปลา พบว่ามีการเก็บข้อมูลพันธุ์ปลาเพียง 2 ช่วงคือ ฤดูแล้ง เดือนมกราคม และฤดูฝน เดือนกรกฎาคม 2554 และมีจุดเก็บตัวอย่างของชนิดพันธุ์ปลาเพียง 6 จุดใกล้ ๆ กับบริเวณก่อสร้างโครงการเขื่อนเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นการเก็บตัวอย่างที่จำกัด และผลการศึกษาเรื่องชนิดพันธุ์ปลาที่พบนั้นน้อยกว่าข้อมูลของ MRC ที่เคยศึกษาไว้ และกรณีทางปลาผ่าน (Fish passage) ซึ่งออกแบบมาอาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องการอพยพของปลาได้ เป็นต้น

ขณะที่ประเทศไทยมีการจัดเวทีไปแล้ว 4 ครั้ง และพบว่าประชาชนประเทศไทยมีความกังวลเรื่องผลกระทบท้ายน้ำจากโครงการเขื่อนปากแบงเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากมีการกั้นลำน้ำโขงและยกระดับน้ำขึ้นเพียง 50 เซนติเมตร -1 เมตร ก็จะทำให้เกิดผลกระทบแน่นอน ชาวบ้านเป็นกังวลว่าน้ำจะท่วมถึงไหน เขื่อนจะกักเก็บน้ำมากเพียงใด เนื่องจากข้อมูลที่เผยแพร่ในเวทีนั้นน้อยมาก ทุกวันนี้ช่วงที่เขื่อนจีนปล่อยน้ำมาในช่วงฤดูแล้งก็ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมสูงแล้ว และถ้าหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้น ชาวบ้านที่ จ.เชียงราย ก็เท่ากับอยู่ตรงกลางของ 2 เขื่อน ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้นก็จะไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ

อนึ่ง การฟ้องศาลปกครองครั้งนี้จะเป็นคดีที่ 2 ที่เป็นการฟ้องหน่วยงานรัฐไทยเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดน จากโครงการที่อยู่นอกประเทศไทย ซึ่งเกี่ยวข้องกับแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย