จ่อชง ม.44 แก้ปมใช้ที่ สปก. สั่ง 7 บริษัทหยุดผลิตปิโตรฯเร่งสรุปทางออก ปตท.สำรอง LNG (8 มิ.ย. 60)
ไทยโพสต์ 8 มิถุนายน 2560
จ่อชงม.44แก้ปมใช้ที่สปก. สั่ง7บริษัทหยุดผลิตปิโตรฯเร่งสรุปทางออก/ปตท.สำรองLNG
พลังงานเร่งหาทางออกเยียวยาเอกชนที่ดำเนินการในพื้นที่ ส.ป.ก. เล็งเสนอ คสช.ใช้ ม.44 แก้ปม ด้านกรมเชื้อเพลิงสั่ง 7 บริษัทที่เกี่ยวข้องหยุดผลิตปิโตรเลียม พร้อมประเมินความเสียหายเบื้องต้น มูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาท/วัน "อนันตพร" สั่ง ปตท.ทำแผนสำรองจัดหา LNG รับมือชาติอาหรับขัดแย้งกาตาร์
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ได้หยุดการผลิตโครงการเอส 1 เฉพาะในพื้นที่ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบหายไปประมาณ 16,000 บาร์เรลต่อวันนั้น กระทรวงฯ จะเร่งหาทางออกเรื่องนี้ภายใน 1-2 วัน โดยอยู่ระหว่างหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขโดยใช้กฎหมายปกติ ก่อนจะพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 หรือไม่ โดยการหยุดผลิตอาจกระทบต่อกำลังผลิตปิโตรเลียมของประเทศและรายได้เข้าสู่ภาครัฐ
ส่วนกรณีที่ประเทศกาตาร์ถูกประเทศในกลุ่มอาหรับประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตนั้น จะไม่กระทบต่อการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ของไทยที่ทำสัญญาระยะยาวไว้กับกาตาร์ แต่ก็ได้สั่งการให้ บมจ.ปตท.ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมแผนสำรองด้วยการสั่งซื้อแอลเอ็นจีจากตลาดจรมาทดแทน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรณีดังกล่าว กรมได้สั่งให้ผู้รับสัมปทานหยุดดำเนินกิจการปิโตรเลียมในพื้นที่ ส.ป.ก.จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ เพื่อมิให้ขัดต่อข้อกฎหมายและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมที่เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตพื้นที่ ส.ป.ก.และพื้นที่ป่าไม้ มีจำนวนทั้งสิ้น 7 บริษัท
ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การดำเนินงาน ดังนี้ 1.บริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.พิจิตร 2.บริษัท ซีเอ็นพีซีเอชเค (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานในพื้นที่ จ.กำแพงเพชร จ.สุโขทัย 3.บริษัท อีโค่ โอเรียนท์ รีซอสเซส (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.เพชรบูรณ์ 4.บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี 5.บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.อุดรธานี จ.กาฬสินธุ์ 6.บริษัท ทวินซ่า ออยล์ ลิมิเต็ด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.พิษณุโลก 7.บริษัท ย่านฉาง ปิโตรเลียม (ไทยแลนด์) จำกัด แปลงสัมปทานพื้นที่ จ.บุรีรัมย์
"เราประเมินความเสียหายเบื้องต้น คือ น้ำมันดิบลดลง 16,000 บาร์เรล/วัน ก๊าซธรรมชาติลดลง 110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก๊าซธรรมชาติเหลวลดลง 100 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 47 ล้านบาทต่อวัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ในรูปแบบค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียม กว่า 26 ล้านบาทต่อวัน และค่าภาคหลวงที่จะกระจายสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลดลงไปกว่า 3.55 ล้านบาทต่อวัน รวมสูญรายได้ 76.55 ล้านบาทต่อวัน" นายวีรศักดิ์กล่าว.