เครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยื่นฟ้อง 2 หน่วยงานรัฐไทย ปมสร้างเขื่อนปากแบงในลาว (8 มิ.ย. 60)

ประชาไท 8 มิถุนายน 2560
เครือข่าย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงยื่นฟ้อง 2 หน่วยงานรัฐไทย ปมสร้างเขื่อนปากแบงในลาว 

เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และกลุ่มรักษ์เชียงของยื่นฟ้องหน่วยงานของไทย กรณีโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ที่จัดทำโดยรัฐบาลลาว หวั่นปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ชี้ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

8 มิ.ย. 2560 ที่ศาลปกครอง ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มรักษ์เชียงของได้ยื่นฟ้อง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำกรมทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบง

โดยในรายละเอียดคำฟ้องที่ขอให้ศาลพิจารณาระบุว่า

1.ขอให้มีคำพิพากษาว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามตามฟ้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทย และขอให้เพิกถอนความเห็นต่างๆที่เกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากแบงที่ได้ดำเนินการส่งไปยังคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ทั้งสิ้น

2.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมาย ที่จะเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ชุมชน ประชาชน ในผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการบนแม่น้ำโขง โดยเฉพาะการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง การแปลเอกสารเป็นภาษาไทยเกี่ยวกับโครงการทั้งหมด และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน หรือผลกระทบข้ามพรมแดน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะรัฐบาลสปป.ลาวจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากแบง และ/หรือก่อนที่จะมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

3.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามดำเนินการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบ และแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน ให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทย

4.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ดำเนินการจัดการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำและโครงการอื่นให้ครบคลุมทุกจังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาแม่น้ำโขง

5.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดำเนินการทักท้วงและคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบง ต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง และต่อสปป.ลาว

6.ขอให้มีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชะลอการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง ในสปป.ลาว จนกว่าจะมีการศึกษาและมาตรการที่มั่นใจได้ว่า โครงการจะไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนในเขตประเทศไทย

ด้าน นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ระบุว่า  ต้องการคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงโดยเฉพาะเขื่อนปากแบง โดยขอให้เพิกถอนการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการ PNPCA และกระบวนการใดๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนปากแบงในประเทศไทยและให้มีการพิจารณาขั้นตอนต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบข้ามพรหมแดน และจะต้องชะลอการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง

นิวัฒน์กล่าวว่า กระบวนการมีส่วนร่วม การศึกษาผลกระทบของโครงการ ยังมีความละหลวมเหมือนกับกระบวนการสร้างเขื่อนก่อนหน้านี้ เช่น การสุ่มเรื่องพันธุ์ปลาก็ทำเพียงเล็กน้อยไม่ทำอย่างจริงจัง โดยต้องการให้รัฐทำหน้าที่ให้เต็มที่กว่าเดิม  “หากปล่อยไป เขื่อนก็เต็มแม่น้ำโขง” ซึ่งกระบวนการศึกษาและการมีส่วนร่วมเป็นส่วนที่อ่อนที่สุด เพราะต้องศึกษาอย่างจริงจัง ละเอียด และควรให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูล 4  ครั้ง ใน 3 จังหวัด ซึ่งผลที่ได้คือข้อมูลนั้นไม่เพียงพอ และไม่ชัดเจนในเรื่องปัญหาข้ามพรหมแดน

“ยุคนี้การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมของประชาชนหรือองค์กรทั่วไปที่มีผลกับรัฐนั้นยากลำบาก ยิ่งในปัจจุบันรัฐบาลทหารไม่เคยทำงานร่วมกันกับประชาชนจึงขาดความคุ้นเคยกัน ซึ่งต้องคุยกันและทำงานร่วมกัน เพราะการพัฒนาต้องเป็นไปอย่างเหมาะสมต้องรับฟังผู้ที่มีผลกระทบ” นิวัฒน์กล่าว

นิวัฒน์กล่าวทิ้งท้ายว่า เข้าใจเพื่อนบ้านอย่างลาวในการทำนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาล เพื่อต้องการสร้างเขื่อน แต่ว่าสิ่งที่เป็นการทำผิดหลักการ ผิดกระบวนการก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิด และชาวบ้านต่อต้านการพัฒนาจากรัฐนั้น เป็นเพราะได้รับผลการทบจริงๆ แต่สายตาคนภายนอกมักจะมองว่าชาวบ้านเอาแต่ต่อต้าน คนที่ไม่เคยได้เจ็บปวดรู้ร้อนรู้หนาวจะไปรู้อะไร มันเป็นเรื่องของวาทกรรม สำคัญที่สุดคือเราจะทำอย่างไรให้สังคมได้รับรู้ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการทำงานของคนเหล่านี้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าว รายงานว่า โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง (Pak Bang Dam) เป็นโครงการเขื่อนพลังน้ำไหลผ่าน (Run Off River) ซึ่งจะก่อสร้างอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย ทางภาคเหนือของ สปป.ลาว ห่างไปทางตอนบนของเมืองปากแบง ประมาณ 14 กิโลเมตร ในแม่น้ำโขง ลักษณะของเขื่อนปากแบง ประกอบด้วย เขื่อนคอนกรีต โรงไฟฟ้า ประตู ระบายน้ำ ประตูเรือสัญจร และทางปลา วัตถุประสงค์ คือ ใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า และปรับปรุงการเดือนเรือบริเวณทางตอนบนของเขื่อน และสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่เขื่อน โดยระดับน้ำบริเวณเขื่อนจะมีความหลากหลายตั้งแต่ 16-27 เมตร ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการไหลของน้ำในช่วงแต่ฤดู ซึ่งโรงไฟฟ้าจะมีกำลังผลิต 912 เมกกะวัตต์ การส่งออกไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงในแต่ฤดูกาล โดยโครงการเป็นของกลุ่มบริษัท ต้าถังโอเวอร์ซีส์ อินเวสต์เม้นต์ (Datang Overseas Investment) ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้าง ในปี 2560 การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ และจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 2566 ทั้งนี้ EGCO บริษัทลูกของ กฟผ. ถือหุ้นในโครงการนี้ 30%

ขั้นตอนในปัจจุบัน โครงการดังกล่าวได้เข้าสู่กระบวนการแจ้งล่วงหน้าและปรึกษาหารือ PNPCA ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง พศ. 2538  โดยเริ่มตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 และกำหนดครบวาระ  6 เดือน ในวันที่ 19 มิ.ย. 2560 ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้มีการจัดเวทีให้ข้อมูลใน 3 จังหวัด รวม 4 ครั้ง ซึ่งประชาชนเห็นว่าข้อมูลไม่เพียงพอ และไม่สามารถอธิบายผลกระทบข้ามพรมแดนได้ เนื่องจากเขื่อนอยู่ห่างจากชายแดนไทย ที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงราว 92 กิโลเมตรเท่านั้น

ขณะที่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความเห็น ว่าการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นข้อมูลเก่าไม่มีการเก็บข้อมูลในปัจจุบัน และข้อมูลอาจไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการพัฒนาลุ่มน้ำโขงมากนมาย อาจทำให้ข้อมูลเปลี่ยนแปลงไป