กรมควบคุมมลพิษ ตั้งเป้า 1 ปีเลิกใช้ "Cap Seal" คาดกำจัดขยะเพิ่ม 520 ตัน (11 มิ.ย. 60)
Thai PBS 11 มิถุนายน 2560
กรมควบคุมมลพิษ ตั้งเป้า 1 ปีเลิกใช้ "Cap Seal" คาดกำจัดขยะเพิ่ม 520 ตัน
กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับผู้ประกอบการ เร่งกำจัดพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ทุกประเภทให้หมดจากประเทศภายใน 1 ปี คาด ช่วยลดขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเลและบนบกได้ถึงปีละ 520 ตัน พร้อม ขยายจุดทิ้งขยะของเสียอันตรายในกรุงเทพมหานครเพิ่ม
วันนี้(11 มิ.ย.2560) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ หรือ คพ. กล่าวว่า ขณะนี้ คพ.เดินหน้ากำจัดขยะจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ในประเทศ โดยได้พูดคุยกับผู้ผลิตน้ำดื่มหลายบริษัท ส่วนใหญ่เลิกผลิตพลาสติกหุ้มฝาขวดพลาสติกแล้ว คาดว่า ภายใน 1 ปีประเทศไทยจะปราศจากพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มทุกประเภทแน่นอน จะนำร่องในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ห้องประชุมประจำกระทรวง หรือหน่วยงานต่างๆ
เนื่องจากพลาสติกหุ้มฝาขวด ไม่เกี่ยวข้องกับความสะอาดของน้ำดื่มที่ควบคุมคุณภาพน้ำโดยองค์การอาหารและยา(อย.) แต่เน้นฝาปิดขวดที่แน่นสนิท ทั้งนี้ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม มีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เพราะเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก และไม่มีประโยชน์ หากทำสำเร็จจะช่วยลดปริมาณขยะประเภทนี้ลงได้ปีละ 520 ตัน จากปัจจุบันไทยผลิตน้ำดื่มปีละ 7,000 ล้านขวด ใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่มมากถึงปีละ 2,600 ล้านชิ้น ความยาว 260,000 กิโลเมตร หรือ คิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ
ทั้งนี้ พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ง่ายต่อการทิ้งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อม ทั้งบนบกและทะเล แต่ยากต่อการจัดเก็บไม่คุ้มทุนในการนำมารีไซเคิล ส่งผลให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ และมีบางส่วนลงสู่ท้องทะเลจนสัตว์ทะเลกินเข้าไปแล้วตายเป็นจำนวนมาก
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกว่า คพ. และกรุงเทพมหานคร แก้ปัญหาขยะของเสียอันตรายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยการขยายจุดกำจัดขยะของเสียอันตราย ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีที่ทิ้งขยะของเสียอันตรายเพียงพอ จากนั้นจะเก็บและกำจัดอย่างถูกวิธี ในเบื้องต้นได้หารือร่วมกับสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า สถาบันการศึกษา และสถานีบริการน้ำมัน แล้ว โดยเฉพาะการเพิ่มจุดทิ้งขยะอันตราย เพื่อให้ประชาชนแยกทิ้งจากขยะทั่วไป