เสนอประกาศเขตควบคุมมลพิษ′กาฬสินธุ์′ ชี้ปัญหาหนักใกล้เคียงลำห้วยคลิตี้ (13 มิ.ย. 57)

มติชนออนไลน์ 13 มิถุนายน 2557
เสนอประกาศเขตควบคุมมลพิษ′กาฬสินธุ์′ ชี้ปัญหาหนักใกล้เคียงลำห้วยคลิตี้

แฟ้มภาพ: ภาพบ่อทิ้งขยะแห่งหนึ่งใน จ. กาฬสินธุ์, 26 มีนาคม 2551
                                                (ภาพโดย สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์, )

วันที่ 13 มิถุนายน นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) กล่าวว่า  ได้คุยกับ นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ(คพ.) เรื่องการจัดการขยะที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทั้งหมดแล้ว เพราะเรื่องนี้ เป็นปัญหาใหญ่ และจะมีการกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยทส.จะต้องทำให้การกำจัดขยะเป็นไปอย่างมีระบบ 4 เรื่อง แยกเป็น ขยะชุมชน ขยะติดเชื้อ ขยะพิษจากกากอุตสาหกรรม และขยะอิเล็คทรอนิกส์

“ความจริงแล้ว หน้าที่ในการเก็บขยะเหล่านี้ ไม่ใช่ของทส. เราไม่ใช่คนเก็บขยะ แต่เรา โดยคพ.มีหน้าที่ที่จะต้องควบคุมระบบการจัดการขยะทั้งหมดนี้ ให้เป็นไปตามระบบเพื่อให้ปราศจากมลพิษ โดยที่ผ่านมา ขยะชุมชนนั้น เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องกำจัด ขยะติดเชื้อ อยู่ภายใต้การดูแลของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สาธารณสุข ขยะอุตสาหกรรม เป็นเรื่องของกรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ขยะอิเล็คทรอนิกส์ นั้นยังไม่มีเจ้าภาพที่จะดูแล แต่โดยบทสรุปแล้ว คพ.ซึ่งเป็นพนักงานควบคุมมลพิษจะต้องมีหน้าที่ในการควบคุมมลพิษเหล่านั้นให้ได้ ดังนั้น ต่อไปนี้ จะต้องออกกฏ กติกาเพื่อควบคุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติตามกฏหมายที่วางเอาไว้ให้ได้”

ปลัดทส.กล่าวว่า เรื่องที่ทางอธิบดีคพ.เสนอมานั้น เดิมเป็นเรื่อง ที่เคยประชุมและตกลงกันไว้แต่แรกแล้วว่าจะต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเรียกกลับสินค้าอุตสาหกรรม ที่รวมไปถึงขยะอันตรายต่างๆ หรือสินค้าอิเล็คทรอนิกส์

สำหรับโรงงานที่ผลิตเดิม โดยให้โรงงานเหล่านั้นไปสร้างแรงจูงใจสำหรับการเรียกกลับเอง ผลตอบแทนที่โรงงานเหล่านั้นจะได้คือ เรื่องมาตรการทางภาษี ผลดีที่จะเกิดขึ้นคือ ขยะทั้ง 4 ประเภท จะได้รับการจัดการอย่างมีระบบ

“เรื่องขยะอิเล็คทรอนิกส์ ที่ จ.กาฬสินธุ์ นั้น เห็นแล้ว น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องนี้ชาวบ้านไปแงะ ไปแกะ ทั้งจอคอมพิวเตอร์ และจอโทรทัศน์ จนปรอท และสารตะกั่ว ฟุ้งกระจาย ออกปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และเข้าสู่ร่างกายของผู้ทำนั้น อาจจะต้องให้ คพ.ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อให้ทางคพ.เข้าไปจัดการ เรื่องต่างๆได้สะดวกขึ้น เช่นการ การออกมาตรการต่างๆเพื่อควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้นให้ได้ทันท่วงที อย่างไรก็ตาม วันนี้ผมได้ประสานงานไปยังผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์แล้ว ให้ทางจังหวัดเข้าไปดูแลเรื่องนี้ควบคู่ไปด้วย”

นายวิเชียร กล่าวว่า ยอมรับว่า การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องขยะอิเล็คทรอนิกส์ที่ กาฬสินธุ์ เพราะปัญหาลุกลามมาค่อนข้างมากแล้ว อย่างไรก็ตาม เวลานี้ คพ.รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเก็บข้อมูลประมวลผล เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาให้เป็นระบบโดยเร็ว ส่วนเรื่องการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ นั้นจะต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการควบคุมมลพิษ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้เวลา การเข้าไปดูแลฟื้นฟูนั้นก็ต้องใช้งบประมาณมหาศษล ซึ่งตนเข้าใจว่า น่าจะใกล้เคียงกับการเข้าไปฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ที่ จ.กาญจนบุรี ที่ต้องใช้ทั้งเวลา และงบประมาณจำนวนมากเช่นกัน