วช.-สสท.เผยผลวิจัย 'เสม็ด' สิ่งมีชีวิตยังอยู่ได้ - ยังไม่สรุปเป็นอันตรายหรือไม่ รอผลวิจัยซ้ำ (21 ก.พ. 57)
เดลินิวส์ออนไลน์ 21 กุมภาพันธ์ 2557
เสม็ดหลังโดนคราบน้ำมัน สิ่งมีชีวิตยังอยู่ได้ เร่งวิจัยซ้ำ
เผยผลวิจัยพื้นที่โดนคราบน้ำมันเกาะเสม็ด กรณีเป็นอันตรายทั้งต่อสภาพแวดล้อมหรือไม่ ยังสรุปไม่ได้
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 57 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (สสท.) จัดประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาเหตุการณ์น้ำมันรั่วใกล้ชายฝั่งมาบตาพุด จ.ระยอง เข้าสู่บริเวณอ่าวพร้าวเกาะเสม็ด เหตุเกิดวันที่ 27 ก.ค. 56 โดยคณะสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา นำโดย ดร.สมภพ รุ่งสุภา ประจำสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล เกาะสีชัง สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การเก็บตัวอย่างน้ำทะเลตะกอนดิน และสัตว์หน้าดินขนาดใหญ่เพื่อตรวจสอบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลและตะกอนดินในเดือนสิงหาคม 2556 หลังกรณีน้ำมันรั่วไหลแล้ว ประมาณ 1 เดือน ดำเนินการทั้งอ่าวระยองทั้งหมด รอบเกาะเสม็ดถึงปากคลองแกลง และบนชายหาดตั้งแต่เขตน้ำขึ้นสูงสุดถึงน้ำลงต่ำสุดที่อ่าวพร้าว อ่าวน้อยหน้า (ใกล้ท่าเรือข้ามฟากและที่จอดเรือประมง) และอ่าวหวาย (ซึ่งไม่มีรายงานเรื่องคราบน้ำมัน จึงถูกกำหนดให้เป็นจุดที่สามารถใช้เป็นค่าฐานหรือค่าที่ควรพบปริมาณน้ำมันดิบในเวลาปกติ)
สำหรับการเก็บตัวอย่าง ดร.สมภพ เปิดเผยว่า เป็นการเก็บตัวอย่างตะกอนดินในทะเลและบนชายหาด ได้เจาะพื้นทะเลนำตัวอย่างตะกอนที่ระดับ 0-3 และ 3-6 เซนติเมตร ขึ้นมาวิเคราะห์ปริมาณน้ำมันที่อาจตกค้าง โดยคาดว่าน้ำมันที่อยู่ลึกลงไปด้านล่างเป็นการสะสมในอดีตและด้านบนควรเป็นที่เกิดขึ้นไม่นาน เพื่อหาปริมาณน้ำมันหรือปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (ศัพท์ทางวิชาการตามมาตรฐานกรมควบคุมมลพิษ)
ผลการสำรวจพบว่า ปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำทะเลเกือบทั้งหมดอยู่ในมาตรฐาน ยกเว้นบริเวณระหว่างท่าเรือข้ามฟากเกาะเสม็ดและท่าเรือบ้านเพที่สูงกว่ามาตรฐาน ส่วนปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในตะกอนดินที่ระดับลึก 3-6 เซนติเมตร มีค่าสูงกว่าที่พบที่อ่าวหวายในระดับความลึกตะกอนเดียวกัน ประมาณ 15 เท่า คือที่อ่าวพร้าวพบเฉลี่ย 22.15 ไมโครกรัม/กรัมน้ำหนักแห้งเทียบกับสารเคซีน ที่อ่าวหวายพบเฉลี่ย 1.85 ไมโครกรัม/กรัมน้ำหนักแห้งเทียบกับสารเคซีน
ดร.สมภพ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีค่ามาตรฐานของปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในตะกอนดินว่าเป็นเท่าไหร่ จึงทำให้ไม่สามารถสรุปหรือระบุได้อย่างแน่ชัดว่า ค่าที่พบที่อ่าวพร้าว ในเดือนสิงหาคม 2556 เกินมาตรฐานหรือไม่ จึงไม่สามารถบอกได้เช่นกันว่าจะเป็นอันตรายทั้งต่อสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศวิทยาและประชาชนหรือไม่ และเพื่อเป็นการยืนยันจึงได้มีการเก็บตัวอย่างซ้ำจุดเดิมอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2556 หลังเกิดปัญหา 5 เดือน แต่เนื่องจากขั้นตอนการวิเคราะห์ซับซ้อนต้องใช้เวลานาน จึงคาดว่าจะเสร็จสิ้น ทั้งหมดภายในปลายเดือนมีนาคม 2557
ส่วนการสำรวจการเปลี่ยนแปลงประชากรปลาทะเล โดย ดร.ภาสิณี วรชนะนันท์ ระบุว่า บริเวณอ่าวลุงดำอ่าววงเดือน อ่าวพร้าวแหลมเรือแตก และอ่าวลูกโยน ยังคงพบปลาผีเสื้อแปดขีดและปลาผีเสื้อปากยาว ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่จะไวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม และว่ายหนีไปถ้าสภาวะแวดล้อมไม่เหมาะสม แสดงถึงว่าในบริเวณที่ศึกษายังคงอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่ควรมีการบำบัดหรือฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเหตุการณ์น้ำมันดิบโอมานรั่ว เกิดขึ้นเวลา 06.50 น.วันที่ 27 กค.56 โดยรั่วจากท่ออ่อนส่งน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว ของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ห่างจากชายฝั่งมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร ปริมาณ 50,000 ลิตร และเคลื่อนตัวไปยังเกาะเสม็ดและอ่าวบ้านเพ.