'อ่าวพร้าว'ยังไม่ดีขึ้น อมน้ำมัน 15 เท่า (21 ก.พ. 57)
คมชัดลึกออนไลน์ 21 กุมภาพันธ์ 2557
'อ่าวพร้าว'ยังไม่ดีขึ้นอมน้ำมัน15เท่า
จุฬาฯเผยผลตรวจคุณภาพทรายเกาะเสม็ด พบชายหาดอ่าวพร้าวยังวิกฤต คราบน้ำมันสูงกว่าหาดปกติ 15 เท่า รับยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง
21ก.พ.2557 ดร.สมภพ รุ่งสุภา จากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยความก้าวหน้าผลงานวิจัยในโครงการสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อมและนิเวศน์ วิทยาทางทะเล หลังปริมาณน้ำมันดิบ 54,341 ลิตร รั่วไหลจากท่อส่งน้ำมันดิบลงสู่ทะเล จ.ระยอง ว่า ผลจากการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลจาก 13 จุด โดยรอบทั้งจุดเกิดเหตุ บริเวณเกาะเสม็ด ชายฝั่ง และจุดที่ไกลออกไปตามที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ในเดือน ส.ค. และ พ.ย ที่ผ่านมา คุณภาพของน้ำทะเลที่ตรวจวัดได้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หากมองด้วยตาจะไม่พบคราบน้ำมันหลงเหลืออยู่ในพื้นทะเล
แต่ผลจากการตรวจสอบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในน้ำในอ่าวระยอง เกาะเสม็ด ปากน้ำแกลง มีค่าเฉลี่ย 1.20 ไมโครกรัมต่อลิตร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีเพียงบางจุดที่พบสารประกอบน้ำมันเกินค่ามาตรฐาน ถึง 9.08 ไมโครกรัมต่อลิตร คือด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะเสม็ด ระหว่างท่าเรือบ้านเพ และเกาะเสม็ด โดยปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนที่พบคาดว่ามาจากน้ำมันที่รั่วไหลจากเรือขนส่ง ข้ามเกาะ
อีกทั้งยังพบปริมาณปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนในตะกอนดินบริเวณชายฝั่งทะเลและ ชายหาด น้ำมันที่ยังคงตกค้างอยู่ที่ผิวหน้าทรายและในผิวทรายบริเวณอ่าวพร้าว มากกว่าหากทรายปกติ (อ่าวหวาย) ถึง 15 เท่า ถามว่าค่าดังกล่าวเกินกว่ามาตรฐานหรือไม่ นักวิจัยบอกว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสอบคราบน้ำมันในผิวดิน
“จนถึงวันนี้ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าสถานการณ์ได้กลับคืนสู่ภาวะปกติ เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่มากระทบ ทั้งคราบน้ำมันที่มีอยู่เดิม และคราบน้ำมันที่รั่วไหลในปริมาณน้อยแต่ต่อเนื่อง แม้จะยังพบส้ตว์หน้าดินอยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่าไม่เหมือนเดิม ซึ่งจะต้องติดตามต่อไปในระยะยาว” ดร.สมภพกล่าว และย้ำว่า
แนวทางการกำจัดคราบน้ำมันในหาดทรายวันนี้ จำเป็นต้องบำบัดซ้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูให้กลับคืนสู่ภาวะปกติให้ได้มากที่สุด ดร.สมภพ เป็นหนึ่งในนักวิจัยจาก 5 มหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ได้จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวด ล้อม ภายใต้ยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ติดตามผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ อาจเกิดขึ้นซ้ำรอยในอนาคต
“สิ่งที่นักวิจัยกำลังศึกษาก็เพื่อยืนยันว่ายังมีคราบน้ำมันหลงเหลืออยู่ หรือไม่ น้ำมันสลายตัวได้จริงหรือเปล่า ตลอดจนการเปลี่ยนแปลง และผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งในระยะยาว”
โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ ทีมวิจัยได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำทะเล ตะกอนดิน รวมถึงระบบนิเวศวิทยาทางทะเล ทั้งในน้ำและบนบก โดยแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน 6 เดือน และระยะยาว 1 ปี รวมถึงศึกษาทิศทางการเคลื่อนที่ของน้ำมันจากปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่นลมพายุ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวสามารถใช้เป็นแนวทางในการเฝ้าระวัง และตัดสินใจในกรณีเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน
ดร.สมภพบอกว่า ปัจจุบันมีนักวิจัยหลายกลุ่มเข้ามาร่วมศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยต้องการสร้าง Fingerprints หรือลายนิ้วมือของน้ำมันที่รั่วไหลว่าเป็นน้ำมันชนิดไหน และมีแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด โดยนำข้อมูลจากการวิจัยมาเป็นส่วนประกอบ
“เกาะเสม็ดในวันนี้ ยังคงต้องการการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง ส่วนในระยะยาวต้องป้องกัน ณ จุดเกิดเหตุ และจุดที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ตลอดจนฝึกซ้อมเจ้าหน้าที่ และนำมาตรการป้องกันที่มีอยู่มาใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์จริง โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้นับเป็นกรณีศึกษาที่ดีสำหรับประเทศไทย” นักวิจัยกล่าวทิ้งท้าย