กสม.เฝ้าติดตามช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล (14 ม.ค. 57)

ASTVผู้จัดการออนไลน์ 14 มกราคม 2557
กสม.เฝ้าติดตามช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหล (14 ม.ค. 57)

ระยอง - ประธาน กสม.ติดตามแก้ไขปัญหากลุ่มประมง โรงแรม รีสอร์ต พ่อค้าแม่ค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วไหลลงทะเล แต่ยังไม่ได้รับการชดเชยกว่า 5 พันราย
       
วันนี้ (14 ม.ค.) ที่ห้องประชุมภักดีศรีสงครามชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดระยอง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมคณะอนุกรรมการ มาติดตามความคืบหน้ากรณีคราบน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลส่งผลกระทบกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง กลุ่มธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต พ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารทะเลที่ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาเบื้องต้นกว่า 5,000 ราย ทั้งที่เวลาล่วงเลยมาถึง 6 เดือนแล้ว หลังเหตุดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 โดยมีนายวราวุธ ปิ่นเงิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็ก จ.ระยอง เจ้าของโรงแรม รีสอร์ต พ่อค้าแม่ค้ากว่า 100 คนเข้าร่วมประชุม พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้แทนจากกรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมประมง และนายวริทธ์ นามวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี ชี้แจงเรื่องการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น
       
นายกิติพงศ์ สมุนไพร ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเรือเล็กบ้านปากคั่น-หินดำ ตะพง อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวว่า กรณีคราบน้ำมันที่กระจายไปทั่วหลายชายหาดยังไม่มีคณะกรรมการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปทำแผนที่ และทำการสำรวจโดยมีภาคประชาชนเข้าร่วม เรื่องนี้ทางจังหวัดจะต้องประชุมชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบันนี้ชาวประมงต้องออกไปหากินห่างจากชายฝั่ง 30-40 ไมล์ทะเล แต่กลุ่มประมงเรือเล็กไม่สามารถออกไปได้ ซึ่งชี้ได้ชัดเจนว่า ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมัน
       
จากสถิติเมื่อปีที่ผ่านมา เคยจับเคยทำกะปิได้ 7,000 กิโลกรัม ปีนี้ได้ 1,000 กิโลกรัม ส่วนการทำประมงโป๊ะเชือกมีหลักฐานย้อนหลังได้ถึง 6 ปี ยกตัวอย่างเดือนพฤศจิกายนปี 2555 จับปลาได้เป็นเงินกว่า 200,000 บาท เดือนพฤศจิกายน 2556 จับได้แค่ 150,000 บาท และเดือนธันวาคม 2555 ได้ 150,000 บาท เดือนธันวาคม 2556 ได้แค่ 90,000 บาท ส่วนเดือนมกราคม 2556 ได้ 49,000 บาท มกราคม 2557 ได้ 34,000 บาท รวมแล้ว 3 เดือนกลุ่มประมงบ้านปากคั่น สูญเสียรายได้ไปกว่า 130,000 บาท ชี้ให้เห็นว่าสัตว์น้ำในพื้นที่หนีหายไปหมด ซึ่งไม่สามารถขนย้ายเครื่องมือตามไปจับได้
       
นายธีรวัฒน์ สุดสุข ปลัดจังหวัดระยอง ชี้แจงว่า กรณีการชดเชยเยียวผู้ที่ได้รับผลกระทบเบื้องต้นที่ได้ยื่นคำร้องมาทั้งสิ้นกว่า 14,000 ราย ได้พิจารณาจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 9,800 ราย อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองกว่า 5,000 ราย และในจำนวนนี้ได้ยื่นอุทธรณ์การชดเชยเยียวยาจากวันละ 1,000 บาท เป็นเวลา 30 วัน จำนวน 30,000 บาท เป็นวันละ 2,000 บาท เป็นเวลา 30 วัน จำนวน 60,000 บาท กว่า 1,600 ราย ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองจะรีบดำเนินการให้
       
สาเหตุที่เกิดความล่าช้า คือ ต้องมีการพิสูจน์ตัวตนที่ชัดเจนว่าใครตัวจริงหรือตัวปลอม และความเป็นจริง ความเสียหายแต่ละคนจะไม่เท่ากัน จึงต้องมีกรบวนการอุทธรณ์ ใครที่ได้รับความเสียหายมากกว่านั้นก็มาเข้าสู่ขบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย อัยการจังหวัด ปลัดจังหวัด ร่วมพิจารณาเป็นรายๆ ไป