กฟผ. รอ สผ. กดปุ่มเดินหน้าจัดทำ EIA และ EHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ (18 เม.ย. 60)
energynews 18 เมษายน 2560
กฟผ.รอ สผ. กดปุ่มเดินหน้าจัดทำEIAและEHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่
กฟผ.รอความชัดเจนจาก สผ.ก่อนเริ่มต้นกระบวนการประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำEIAและEHIA โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ พร้อมรอฟังนโยบายจาก คสช.ที่จะสรุปผล 3เวทีรับฟังความเห็นชาวใต้ ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ว่าจะให้เดินหน้าโครงการหรือไม่ ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลา เฟส1 ขนาด1,000 เมกะวัตต์ คาดล่าช้าออกไปจากแผน2ปี จากเดิมที่จะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ปลายปี2564
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.2560 ที่ผ่านมา ว่าจะให้ กฟผ.ดำเนินการอย่างไร เพื่อให้กระบวนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว และการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ถูกต้องตามระเบียบของ สผ. โดยกฟผ.จะยังไม่เริ่มกระบวนประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำ EIAและEHIA จนกว่าจะได้รับความชัดเจนจากทาง สผ.
ทั้งนี้ หากทางสผ. ให้ กฟผ.เริ่มดำเนินกระบวนการจัดทำEIAและEHIA ของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ใหม่ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ได้ นั้น ในกระบวนการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา นั้น สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ การว่าจ้างพิเศษ หรือการจ้างตรง คาดว่าใช้เวลาดำเนินการประมาณ 1 เดือน ก็จะได้รายชื่อผู้รับเหมา แต่วิธีนี้จะใช้ก็ต่อเมื่อภาครัฐเห็นว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ส่วนอีกวิธี คือ การเปิดประมูลว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซึ่งวิธีนี้คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน โดยจะเลือกใช้รูปแบบไหนนั้น จะขึ้นอยู่กับข้อเสนอแนะของ สผ. รวมถึงรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาเพื่อจัดทำEIA และEHIA ก็จะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อที่ สผ. กำหนดไว้ด้วย
นายกรศิษฏ์ กล่าวว่า กฟผ.ยังรอฟังนโยบายจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในวันที่ 28 เม.ย.2560 นี้ ที่จะสรุปผลการจัดเวทีสร้างความรู้ความเข้าใจและรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา พร้อมกัน 3เวที ทั้ง ที่สุราษฎร์ธานี สงขลา และกระบี่ ซึ่งหากมีนโยบายไม่ให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ทางกฟผ. พร้อมทำตามนโยบายของภาครัฐ โดยยุติโครงการทันที แต่หากให้เดินหน้าโครงการต่อไป กฟผ.ก็จะเดินตามแนวทางที่ สผ.แนะนำเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เชื่อว่า กระทรวงพลังงาน จะพิจารณาแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่อื่นแทน หรือ อาจพิจารณาแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่ กฟผ. ได้เสนอแผนการศึกษาความเหมาะสมไปแล้วใน 4 พื้นที่ คือ จ.สุราษฎ์ธานี จ.สงขลา อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.ตรัง ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุด คือการสร้างโรงไฟฟ้าLNG ในอ.ทับสะแก เพราะ กฟผ.มีที่ดินอยู่แล้ว และติดริมทะเลน้ำลึก สามารถสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้
นอกจากนี้ กฟผ. ยังเร่งลงทุนโครงการปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้า 500 KV ช่วงภาคตะวันตก-ภาคใต้ วงจรที่ 2 จากบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลงไป ยังจ.สุราษฎร์ธานี และจ.ภูเก็ต ระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงไฟฟ้าให้กับภาคใต้ฝั่งอันดามัน จากเดิมที่มีสามารถส่งไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปภาคใต้ได้ 600 เมกะวัตต์ จะเพิ่มเป็นประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ แต่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น หากสายส่งมีปัญหา เพราะจะทำให้ไฟฟ้าหายไป 1,000 เมกะวัตต์
ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา เฟส 1 ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาEIAและEHIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) คาดว่า จะผ่านการอนุมัติในเดือนพ.ค.2560 นี้ แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าอาจล่าช้าออกไปจากแผนไปประมาณ 2 ปี จากเดิมคาดว่าจะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2564เนื่องจากยังมีขั้นตอนพิจารณาอื่นๆ ก่อนขอการอนุมัติจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี(ครม.)อีก 18 -24 เดือน อีกทั้งยังติดปัญหาเวนคืนที่ดินและที่ดินมีราคาสูง ซึ่งต้องใช้เวลาในการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)เวนคืนที่ดิน อีก 1 ปี