ต่างชาติมีสิทธิเช่าที่99ปี ในเขต‘อีอีซี’/อ้างกม.เก่าปี’42 รองรับ (19 เม.ย. 60)
แนวหน้าออนไลน์ 19 เมษายน 2560
ต่างชาติมีสิทธิเช่าที่99ปี ในเขต‘อีอีซี’/อ้างกม.เก่าปี’42 รองรับ
นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)จะเดินทางลงพื้นที่เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชน ในพื้นที่อีอีซีที่ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี เพื่อสร้างการรับรู้และให้เกิดการยอมรับของประชาชนในพื้นที่ และเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ มีส่วนร่วมในการแสดงข้อคิดเห็นผ่านเวทีสาธารณะ และสื่อโซเชียลมีเดีย ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมั่นใจว่าการดำเนินโครงการอีอีซีจะไม่ซ้ำรอยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ที่ถูกต่อต้าน เพราะเป็นโครงการที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต
สำหรับประเด็นการเปิดให้นักลงทุนชาวไทยและต่างชาติ เช่าที่ดินระยะยาวในอีอีซี ที่มีข้อสงสัยว่า มีการเปิดให้เช่ารอบแรก 50 ปี และขอต่ออายุสัญญาเช่าได้อีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี ได้นั้น ตนขอยืนยันว่า ในปัจจุบันมีกฎหมายที่ใช้บังคับเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาวคือ การเช่าที่ดินตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมพ.ศ.2542 ที่กำหนดเวลาการเช่าไว้ไม่เกิน 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี ซึ่งผู้เช่าและผู้ให้เช่าตกลงกันต่อเวลาการเช่าออกไปอีกได้มีกำหนดไม่เกิน 50 ปี นับแต่วันที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ เป็นไปตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง
รวมทั้งการเช่าที่ดินในอีอีซี ที่กำหนดให้ กรมธนารักษ์จัดให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ หรือจัดให้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)หน่วยงานอื่นของรัฐหรือเอกชนเช่าเพื่อใช้เป็นพื้นที่พัฒนา โดยระยะเวลาการเช่าดังกล่าว ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 50 ปี และอาจต่อสัญญาอีกได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการอีอีซีกำหนด
โดยการเช่าที่ดินในอีอีซี ตามร่างพ.ร.บ.อีอีซีพ.ศ..... กำหนดระยะเวลาการเช่าไม่เกิน 50 ปี และอาจต่อสัญญาได้แต่ต้องไม่เกิน 49 ปี ซึ่งการเช่าตามระยะเวลาดังกล่าว ต้องเป็นการเช่าภายในเขตอีอีซี ที่คณะกรรมการนโยบายฯประกาศกำหนดเพื่อวัตถุประสงค์ในการผลักดันการลงทุน โดยก่อนดำเนินการประกาศเขตอีอีซี จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการ
นายอุตตมกล่าวว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิเช่าที่ดินรอบแรก 50 ปี ต้องเป็นโครงการลงทุนที่ภาครัฐกำหนดไว้ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และต้องลงทุนใน 3 จังหวัดข้างต้น ซึ่งแต่ละรายอาจไม่ได้รับสิทธิในสัญญาเช่าครบทั้ง 50 ปี เพราะคณะกรรมการอีอีซี จะพิจารณาเป็นรายโครงการ เงินลงทุน จำนวนการจ้างงาน ฯลฯ ขณะที่หากบางรายได้สิทธิเช่าครบ 50 ปี ตลอดอายุโครงการ และจะได้รับการต่อสัญญาเช่าอีก 49 ปี หรือไม่ คณะกรรมการอีอีซี ก็ต้องมีการพิจารณาว่า มีการลงทุนเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาเช่า 50 ปีแรก หรือไม่
“รัฐบาลตระหนักดีว่าต้องดูแลในเรื่องของสิทธิประโยชน์ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และจะไม่มีการต่ออายุการเช่าที่ดินโดยอัตโนมัติหลังหมดระยะเวลาการเช่าที่ดินครั้งแรก ทุกโครงการจะต้องทำการศึกษาและตรงตามเงื่อนไขที่ทางคณะกรรมการบริหารอีอีซีกำหนด เช่น จำนวนเงินลงทุน การจ้างงาน และสร้างประโยชน์ให้กับโครงการอย่างไร”นายอุตตมกล่าว