มหากาพย์ทุจริตคลองด่าน ส่อแววแพ้ หากรัฐสมยอม'นักการเมือง-เอกชน' (16 ธ.ค. 56)
ไทยรัฐออนไลน์ 16 ธันวาคม 2556
มหากาพย์ทุจริตคลองด่าน ส่อแววแพ้ หากรัฐสมยอม'นักการเมือง-เอกชน'
"ดาวัลย์" แกนนำชาวบ้าน ประท้วงคดีทุจริต ชี้คดีคลองด่าน รัฐส่อแววแพ้ หาก คพ.สมยอม "นักการเมือง-เอกชน"...
ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 56 ที่ผ่านมา มีคำพิพากษายกฟ้อง นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และพวกจากกลุ่มบริษัท "กิจการร่วมค้า NVPSKG" ในความผิดฐานฉ้อโกงที่ดิน และฉ้อโกงด้วยการนำที่ดิน จำนวน 1,900 ไร่ นำมาขายให้กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำหรับใช้เป็นที่ตั้งโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ หรือโครงการคลองด่าน ที่มีมูลค่าโครงการ 23,000 ล้านบาทนั้น
ล่าสุด มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 56 ที่ผ่านมา ทางทนายความของ คพ. ได้ยื่นฎีกาอุทธรณ์คดีอีกครั้งไปแล้ว หลังจะครบกำหนดเปิดให้อุทธรณ์ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ ขณะที่มีความเคลื่อนไหวในส่วนของภาคประชาชนที่ออกมาแสดงความกังวล ว่ามีความเป็นไปได้ โดย คพ. อาจจะสมยอมกับนักการเมือง และเอกชนที่รับเหมาโครงการเพื่อฮั้วคดี
นาง ดาวัลย์ จันทรหัสดี แกนนำชาวบ้านประท้วงทุจริตโครงการคลองด่าน เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความกังวลมากกับการยื่นฎีกาในคดีอาญาที่มีข่าวว่า ทางทนายความของ คพ. ไปยื่นไว้นั้น จะมีเนื้อหาสมบูรณ์เพียงพอที่จะชี้ให้ศาลเห็นว่า การยกฟ้องในศาลอุทธรณ์ได้หรือไม่ เพราะหากเป็นการยื่นเพื่อให้ครบถ้วนตามขั้นตอนของกฎหมายที่ให้เวลา 30 วัน หลังจากมีคำพิพากษาก็ส่อแววว่า คดีคลองด่าน ที่มี คพ. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนักการเมืองคือ นายวัฒนาก็อาจจะส่อแววหลุดคดี หรือพ่ายแพ้อย่างแน่นอน หากเป็นไปอย่างที่กังวลประเทศชาติจะสูญเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท และจะเสียหายซ้ำ-เสียหายซ้อน
"กรณีทุจริตคลองด่าน ถูกตรวจสอบมาเป็นเวลากว่า 15 ปี เริ่มจากสื่อมวลชนร่วมกับชาวบ้าน จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการหลายชุด หลายระดับ รวมถึงมีการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้ชัดว่ามีนักการเมืองหลายรายอยู่เบื้องหลังการทุจริตของโครงการ และนำไปสู่การฟ้องร้องในคดีต่างๆ รวม 7 คดี ขณะที่คดีอาญาของนายวัฒนา เรื่องการโกงที่ดินไปขายทำโครงการเอง ในชั้นต้น ศาลพิพากษาว่า มีความผิด จำคุก 3 ปี แต่มีการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ และมีคำพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผลว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนัก รับฟังได้ว่าจำเลยมีการกระทำที่เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือดำเนินการใดๆ ต่อการซื้อที่ดินทั้ง 5 แปลง ที่ปัจจุบันกรมที่ดินได้เพิกถอนแล้ว" นางดาวัลย์ กล่าว
ทั้งนี้ นางดาวัลย์ กล่าวอีกว่า คำตัดสินครั้งนี้ ถือว่าเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อมาก เพราะหากฝ่ายโจทก์คือ คพ. มีความจริงใจที่จะเอาชนะคดี คงไม่ทำสำนวนหลักฐานที่อ่อน จนกลายเป็นช่องโหว่ให้นักการเมืองหลุดคดีนี้ ดังนั้น จึงส่อเค้าว่าในชั้นการยื่นฎีกา หากยื่นโดยขาดความสมบูรณ์หรือน้ำหนักไม่เพียงพอก็อาจจะแพ้คดีอาญา และยังโยงถึงคดีอนุญาโตตุลาการที่รัฐต้องจ่ายค่าโง่ อีก 10,000 ล้านบาท ให้กับเอกชน เพราะมีแนวโน้มว่าโจทก์จะสมยอมร่วมกับนักการเมืองและเอกชน เพื่อทำให้คดีคลองด่านจบลงแบบนี้ อย่างไรก็ตาม ในฐานะชาวบ้านและเอ็นจีโอ ได้ติดตามคดีนี้มาอย่างต่อเนื่อง 15 ปี จะไม่ยอมให้การศึกษาคดีทุจริตประวัติศาสตร์นี้ จบแบบคนโกงลอยนวลแน่นอน
"ระหว่าง นี้ จะรวบรวมเอกสารผลการสอบสวนจากคณะกรรมการทุกชุด สำนวน คำตัดสินของศาล และศาลปกครองทุกคดี เพื่อเตรียมปอกเปลือกให้สังคมรู้ว่า การทุจริตเชิงนโยบายในโครงการคลองด่าน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน โดยคาดว่าจะเปิดแถลงอย่างเป็นทางการหลังปีใหม่นี้" นางดาวัลย์ กล่าว
ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แช่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า คดีการทุจริตโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มีข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่ยืนยันว่า โครงการนี้มีการทุจริตคอร์รัปชันจริง และทุจริตมากในทุกระดับ ซึ่ง ป.ป.ช.เองได้ชี้มูลความผิดถึง 2 ครั้ง และศาลอาญาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตัดสินคดีไปแล้ว ให้จำคุก 10 ปีนายวัฒนา
นอกจากนี้ ศาลชั้นต้นก็พิพากษาให้จำคุก กรณีทุจริตคลองด่านอีก 3 ปี รวมเป็น 13 ปี แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีความชัดเจนว่า มีการทุจริตจริง ทุจริตจากหน่วยงานใดบ้าง และเกี่ยวข้องกับข้าราชการ นักการเมืองคนใดบ้าง หรือเกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษาใดบ้าง ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้อง นายวัฒนากับพวกทั้งหมด เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 56 ที่ผ่านมา จึงมีความไม่ชอบมาพากล ทั้งระยะเวลาการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ ใช้เวลานานถึง 4 เดือน ถือว่าการพิจารณามีความล่าช้ามาก และศาลยังให้เหตุผลว่า พยานหลักฐานที่มีนั้นอ่อนเกินไป ทั้งๆ ที่มีหลักฐานข้อมูลชัดเจนจาก ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดไปแล้ว
ดังนั้น เมื่อ คพ. ในฐานะโจทย์ที่เตรียมจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกา และจะนัดหารือกับทีมทนายความ 15 ธ.ค. นี้ ก็มีความเป็นห่วงถึงสำนวนคดีที่จะยื่น ว่ามีรายละเอียดใดบ้างที่จะยื่นเพิ่มเติม ซึ่งตนในฐานะที่ทำงานกับชาวบ้านคลองด่าน ได้เก็บรวบรวมข้อมูลการทุจริตคลองด่านมาตั้งแต่ต้น จึงขอตรวจสอบเอกสารที่จะยื่นก่อน หาก คพ.มีความจริงใจที่จะรักษาผลประโยชน์ของชาติจริง ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ยินดีเข้ามาช่วย แต่ถ้าปล่อยให้ทีมทนายความของกรมฯ เดินเรื่องเอง อาจจะเกรงอำนาจของนักการเมือง ก็จะทำให้คดีนี้กลายเป็นคดีที่ทุกฝ่ายรวมกันโกง แต่ประเทศชาติเสียหาย
"จาก ที่มูลนิธิฯ ติดตามคดีนี้มาอยางต่อเนื่อง หลังจากนี้ก็จะต้องติดตามต่อว่า คพ.จะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาไหม แต่จะติดตามว่าเอกสารที่จะยื่นต่อศาลฎีกา ข้อมูลหลักฐานเป็นอย่างไร สุดท้ายแล้วศาลฎีกาจะตัดสินอย่างไร ซึ่งหากแพ้ในชั้นฎีกา หมายถึงว่า การฟ้องแพ่งของ คพ. ในนามรัฐบาล เพื่อเรียกคืนเงินที่ถูกทุจริตไปกว่า 20,000 ล้านบาท ก็จะทำไม่ได้ ประเทศชาติก็จะเสียหาย โครงการบำบัดน้ำเสียก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะจากการทุจริตก็ทำให้ต้องมาสร้างที่ ต.คลองด่าน ในทางกลับกัน คพ.ก็มีสิทธิ์ถูกภาคเอกชน ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากความล่าช้าของโครงการ กว่า 10,000 ล้านบาท แต่ถ้ากลุ่มผู้รับเหมาฟ้องร้อง ก็ถือว่าประเทศชาติต้องเสียเงินซ้ำ เงินซ้อน จากที่บริษัทต่างๆ ร่วมกันโกงไป แล้วยังได้เงินค่าเสียหายจากรัฐบาลด้วย และปัญหาน้ำเสียก็จะไม่ถูกแก้ไข" น.ส.เพ็ญโฉม กล่าว
นอกจากนี้ น.ส.เพ็ญโฉม ยังกล่าวด้วยว่า แม้คำตัดสินของศาลฎีกาจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่โครงการนี้ไม่สามารถเดินต่อไปได้แล้ว เพราะสิ่งต่างๆ ที่ร้างมาก่อนหน้านี้ ทั้งระบบท่อระบายน้ำที่ส่งตรงจากบ่อบำบัดถึงปากน้ำ กว่า 20 กม. คงเก่าจนใช้งานไม่ได้ ดังนั้น หากรัฐบาลชุดใหม่จะเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำเสีย ควรจะทำโครงการบำบัดขนาดเล็ก แต่กระจายอยู่หลายจุด และควรแก้ปัญหาที่ต้นทางคือ ให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมมีบ่อบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานของตัวเอง ก่อนที่จะมาปล่อยลงบ่อบำบัดของรัฐหรือปล่อยลงคลองธรรมชาติ.