เตรียมรับมือ "จีน" ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (9 เม.ย. 60)
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 9 เมษายน 2560
เตรียมรับมือ "จีน" ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
คอลัมน์ ช่วยกันคิด โดย สกุณา ประยูรศุข
ท่ามกลางความเจริญรุดหน้าของเศรษฐกิจโลก ประเทศต่าง ๆ ในแถบลุ่มน้ำโขงซึ่งประกอบไปด้วยไทย ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม หรือ CLMVT และอาจรวมเอาจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนานและกวางสี) เข้าไปด้วยในปัจจุบัน ต้องนับว่าภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และยังเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในด้านการเมืองและความมั่นคงที่เกี่ยวโยงไปถึงผลประโยชน์ของประเทศไทย และผลประโยชน์ซึ่งกันและกันในประเทศกลุ่มดังกล่าว
จากการเสวนาของสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และสมาคมมิตรภาพไทย-กัมพูชา ที่ จ.กระบี่ เมื่อไม่นาน มีการพูดถึง ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในมิติต่าง ๆ ไม่ว่าการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และรวมไปถึงศาสนา โดยมีความคิดหลักคือจะเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMVT เข้าด้วยกันโดยใช้ "ศาสนาพุทธ" เป็นตัวเชื่อม เนื่องจากศาสนาเป็นสิ่งเดียวที่จะเชื่อมโยงจิตใจของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขงเข้าไว้ด้วยกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ในอนาคต ถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้ จะมีระบอบการปกครองที่แตกต่างกันก็ตาม แต่พื้นฐานของแต่ละประเทศล้วนนับถือพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน
ประเด็นที่น่าจับตาและเป็นปมปัญหาของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในขณะนี้ คือเรื่องของ "ทุน" และ "คน" ที่กำลังไหลบ่ามาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ วงเสวนาคิดเห็นร่วมกัน ว่า ประเทศจีนพยายามขยายอิทธิพลลงมาสู่ประเทศลุ่มน้ำโขง และกำลังจะ "กินรวบ" ทรัพยากรสองฝั่งลุ่มน้ำโขง เพื่อมุ่งไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างยิ่งใหญ่ และยังเป็นการเปิดทางออกให้จีนสามารถทะลุไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก เชื่อมจีนเข้ากับเอเชียและยุโรปทั้งหมดอีกด้วย
ในภูมิภาค CLMVT แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญอย่างมาก นอกเหนือจากวิถีชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตายของคนแถบนี้ต้องผูกติดกับแม่น้ำสายนี้แล้ว ยังเป็นแหล่งทำมาหากิน เป็นพื้นที่ทำการเกษตร การประมง เป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม ซึ่งมีข้อมูลทางวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าแม่น้ำโขงเป็นแหล่งกำเนิดระบบนิเวศ 13 แห่ง ทั้งหมดต่างเชื่อมโยงกัน ดังนั้น เมื่อจีนเริ่มขยับหาหนทางเข้าครอบครองใช้ประโยชน์แม่น้ำสายนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังที่กล่าวมา โดยไม่คำนึงถึงหลักเกณฑ์หรือกฎของชาวโลก ที่มีกำกับแบ่งปันการใช้ทรัพยากรมาช้านาน จึงเป็นเรื่องที่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงต้องหันกลับมามองและร่วมหารือว่าจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้หรือไม่ และจะร่วมกันพัฒนาภูมิภาคแถบนี้ต่อไปอย่างไร
ยุทธศาสตร์ของจีน คือ มุ่งลงใต้ เพราะมีเป้าหมายต้องการรุกทางเศรษฐกิจ และเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จีนจึงต้องการ "อาเซียน" เป็น "ตัวเชื่อม" ดังนั้น จึงพบว่าตลอดระยะที่ผ่านมาไม่เกินห้าปีมานี้ ประเทศเพื่อนบ้านของเราไม่ว่าเมียนมา ลาว และกัมพูชา ต่างได้รับความช่วยเหลือจาก "ทุนจีน" ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้เข้าสู่ระยะแรกของการพัฒนา ยังต้องการโครงสร้างพื้นฐานในทุกประเทศ เราจึงเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วใน CLMVT ซึ่ง T หมายถึงประเทศไทย และไทยเองก็มีความเกี่ยวข้องกับประเทศเหล่านี้อย่างมากในทุกด้าน จึงควรมีความรู้ที่ทันสมัย สอดรับกับพลวัตที่เกิดขึ้น
ปัจจุบันจีนมีถนน R3A ผ่านลาวและข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 มุ่งตรงเข้าสู่ไทย เป็นถนนที่นำเอาผลผลิตจากประเทศลุ่มน้ำโขงส่งกลับไปจีน แต่จีนยังไม่พอ ยังต้องการ "ทางน้ำ" คือ การเดินเรือ นำเรือใหญ่มาล่องในแม่น้ำโขง เพราะเห็นว่ามีต้นทุนถูกที่สุด ในประเด็นนี้นับว่าเป็นผลประโยชน์โดยตรงของจีนเพียงฝ่ายเดียว เพราะถนน R3A นั้น ยังมีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน แต่การใช้น้ำโขงเพื่อการเดินเรือ มีเพียงจีนที่ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ ขณะที่คนที่เสียประโยชน์คืประชาชนในลุ่มน้ำโขงทั้งหมด
ฉะนั้น การที่จีนอ้างว่าระเบิดแก่งหินเพื่อปรับปรุงร่องน้ำในการเดินเรือ เป็นประโยชน์ร่วมกันในทางค้าขาย หากศึกษาให้ชัด จะพบว่าแก่งหินแม่น้ำโขงมีความสำคัญที่สุดต่อวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขง ดังนั้น ความคุ้มค่าในการระเบิดเกาะแก่งตามที่จีนอ้าง จึง "ไม่คุ้มแน่นอน" และยังมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ผลกระทบนี้เราเห็นได้ชัดเจน
อนาคตเราหนีไม่พ้นลักษณะการขนส่งแบบไม่มีพรมแดน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในยุโรปมาแล้ว แต่สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้กระบวนการของความเปลี่ยนแปลงนี้เราไม่เสียเปรียบจีน มีตัวเลขให้เห็นปริมาณการค้าระหว่างไทยกับจีนในปี 2559 ที่ผ่านมาไทยส่งออกไปจีน 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากจีนปริมาณ 42,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไทยขาดดุลกับจีน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่คู่ค้าอีกฝั่งคือสหรัฐ ซึ่งประเทศไทยนำเข้าจากสหรัฐ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งออกไปสหรัฐ 63,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นั่นหมายความว่าไทยได้ดุลการค้าสหรัฐถึง 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในแง่ความตระหนักของสังคมเราจำเป็นต้องรู้การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมทั้งหลายที่จะเกิดในลุ่มน้ำโขง จำเป็นต้องรู้ให้ชัดว่าใครได้ประโยชน์ทางการค้า และจะทำอย่างไรเพื่อให้ 4-5 ประเทศใน CLMVT ได้ประโยชน์ด้วยกับเส้นทางคมนาคมที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ใช่เกิดประโยชน์แค่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ในอีกสิบปีข้างหน้ามองเห็นชัดเจนว่าอำนาจและอิทธิพลของจีนจะแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคนี้แน่ ๆ และจะเป็นผู้กำหนดทิศทางของความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การขนส่ง ในภูมิภาค
คำถามที่ต้องหาคำตอบ ไม่ใช่การทะเลาะเบาะแว้ง แต่คือจะอยู่ร่วมกับเขาอย่างมีความสุข มีความมั่นคงในภูมิภาคได้อย่างไร ?