พลิกเศรษฐกิจ "แม่น้ำโขง-เชียงราย" ในอุ้งมือแดนมังกร...ผงาดครอง (17 เม.ย. 60)

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 17 เมษายน 2560
พลิกเศรษฐกิจ "แม่น้ำโขง-เชียงราย" ในอุ้งมือแดนมังกร...ผงาดครอง

ในปัจจุบันแม่น้ำโขงได้รับการพัฒนาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่เชื่อมโยงมณฑลทางตอนใต้ของประเทศจีนผ่านอีก 5 ประเทศ ทั้งเมียนมา สปป.ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม จึงสามารถใช้เพื่อการคมนาคมและขนส่งค้าขายระหว่างกันมาตั้งแต่อดีต 

ขนส่งแม่น้ำโขงต้นทุนต่ำเท่าตัว

ขณะนี้การใช้แม่น้ำโขงตอนบนร่วมกันอยู่ภายใต้ข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงตอนบน4ชาติคือ ไทย สปป.ลาว เมียนมา และมณฑลยูนนาน ประเทศจีน โดยมีข้อตกลงในการพัฒนาเมืองท่าของประเทศสมาชิกเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันจำนวน 14 เมืองท่ามาตั้งแต่ปี 2544

โดยท่าเรือทั้งหมด ได้แก่ ท่าเรือซือเหมาจิ่งหงหรือเชียงรุ้ง เมืองหัง กวนเหล่ย ประเทศจีน ท่าเรือบ้านจิง บ้านโป่ง ประเทศเมียนมา เรือปางทราย ปางเซียงก่อ เมืองมอม บ้านป่าลุน ห้วยทราย และหลวงพระบาง สปป.ลาว รวมถึงท่าเรือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ ประเทศไทย รวมระยะทางตั้งแต่ซือเหมา-หลวงพระบาง 890 กิโลเมตร สำหรับไทยมี 2 ท่าเรือคือ ท่าเรือแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย 

ที่ผ่านมาการขนส่งสินค้าทางแม่น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปีควบคู่ไปกับการขนส่งทางถนนอาร์สามเออ.เชียงของ ของไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ และบางช่วงเวลาที่สถานการณ์ในเมียนมาเอื้ออำนวย ก็จะมีการขนส่งผ่านถนนอาร์สามบี อ.แม่สาย ของไทย-เมียนมา-จีนตอนใต้อีกด้วย 

อย่างไรก็ตามแม่น้ำโขงยังคงเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่มีความสำคัญเพราะสามารถขนส่งสินค้าได้ครั้งละเป็นจำนวนมาก และใช้ต้นทุนที่ต่ำกว่าทางรถยนต์ โดยเรือสินค้าคิดราคาค่าขนส่งเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1-1.50 บาท ส่วนทางรถยนต์มีต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3-4 บาท

ค้าชายแดนโตพุ่งหมื่นล้าน

ศักยภาพของแม่น้ำโขงดังกล่าวจึงเป็นแรงส่งให้มูลค่าการค้าชายแดนเติบโตขึ้นทุกปีโดยในปี 2559 ด่านศุลกากรเชียงแสน จ.เชียงราย รายงานว่ามีการนำเข้าสินค้าเป็นมูลค่ารวม 710.95 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าจากจีนมูลค่า 703.83 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 7.12 ล้านบาท และปี 2560(ม.ค.-ก.พ.) มีการนำเข้ามูลค่ารวม 268.54 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าจากจีนมูลค่า 252.33 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 16.21 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกพบว่า ในปี 2559 มีการส่งออกมูลค่ารวม 15,229.51 ล้านบาท โดยส่งออกไปยังจีนมูลค่า 2,836.08 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 9,583.35 ล้านบาท เมียนมามูลค่า 2,810.07 ล้านบาท และส่งออกผ่านแดนมูลค่า 6,178.33 ล้านบาท 

ขณะที่ในปี 2560 (เดือน ม.ค.-ก.พ.) มีการส่งออกมูลค่ารวม 5,600.05 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกไปยังจีนมูลค่า 849.16 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 2,987.63 ล้านบาท เมียนมามูลค่า 1,763.26 ล้านบาท และส่งออกผ่านแดนมูลค่า 2,372.07 ล้านบาท 

สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นกระเทียมสดเมล็ดทานตะวันทับทิมสดกระเทียมอบแห้ง มันฝรั่ง เมล็ดฟักทอง หม้อไอน้ำ ใบชาเขียว ฯลฯ ส่วนสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง สุกรมีชีวิต รถยนต์ใหม่ น้ำตาลทรายขาว น้ำมันดีเซล เครื่องดื่มชูกำลัง ลำไยอบแห้ง โคมีชีวิต ฯลฯ

สำหรับด่านศุลกากรเชียงของ รายงานมูลค่าการค้าปี 2559 มีการนำเข้ารวม 5,983.08 ล้านบาท เป็นการนำเข้าจากจีนมูลค่า 5,873.84 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 97.03 ล้านบาท และส่งออกมูลค่ารวม 14,611.27 ล้านบาท โดยส่งออกไปจีนมูลค่า 4,577.13 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 9,703.63 ล้านบาท เมียนมามูลค่า 330.5 ล้านบาท 

ส่วนปี 2560 (เดือน ม.ค.-ก.พ.) มีการนำเข้ามูลค่า 2,197.97 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าจากจีนมูลค่า 184.56 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 36.92 ล้านบาท และส่งออกมูลค่า 6,322.27 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกไปยังจีนมูลค่า 504.84 ล้านบาท สปป.ลาวมูลค่า 485.85 ล้านบาท และเมียนมามูลค่า 12.56 ล้านบาท สินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นพืชผักสด ผลไม้สด ดอกไม้/ไม้ประดับ แก๊สอาร์กอน ลิกไนต์ ฯลฯ และสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นข้าวสาร ผลไม้สด น้ำมันเชื้อเพลิง ยางพารา ปลากะตักแห้ง ฯลฯ 

จีนครองแม่น้ำโขงเบ็ดเสร็จ

ปัจจุบันประเทศจีนถือว่ามีบทบาทมากที่สุดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมในแม่น้ำโขงโดยทุ่มทุนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทางมณฑลตอนเหนือเอาไว้เพื่อควบคุมกระแสน้ำแล้ว 4 แห่ง

โดยเขื่อนที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดคือเขื่อนจิ่งหงตั้งอยู่เมืองเชียงรุ้งหรือจิ่งหงเมืองเอกของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ตั้งอยู่ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสนของไทยประมาณ 280 กิโลเมตร และยังมีโครงการสร้างเขื่อนอื่น ๆ อีก 4 แห่ง 

นอกจากนั้นจีนยังให้บริษัท ซีซีซีซี เซ็คกันด์ ฮาเบอร์ คอนเซาท์แทนต์ จำกัด ปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงตลอดแนว ทั้งการระเบิดเกาะแก่งที่ขวางทางเรือ และติดตั้งสัญญาณต่าง ๆ โดยดำเนินการระยะที่ 1 ไปแล้ว 10 แก่ง สามารถเดินเรือได้น้ำหนัก 150 ตัน ตอนนี้เหลือเพียงเกาะแก่ง "คอนผีหลง" ชายแดนไทย-สปป.ลาวด้าน อ.เชียงของ เพราะทางการไทยยังไม่อนุมัติและมีการต่อต้านจากเครือข่ายภาคประชาชน

ขณะที่ทางการจีนก็พยายามผลักดันโครงการระยะที่2และขอให้รัฐบาลไทยอนุมัติเพื่อจะดำเนินการให้เรือขนาด 300 ตันแล่นเชื่อมจีนตอนใต้-หลวงพระบางได้ตลอดทั้งปี

สิบสองปันนา-กะหลั่นป้า-กวนเหล่ย

นางสาวผกายมาศเวียร์ร่ารองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด กล่าวว่า จีนตอนใต้กำลังโหมพัฒนาขนานใหญ่ เช่น สร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ที่เมืองกะหลั่นป้า ในเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ตั้งอยู่ระหว่างเมืองเชียงรุ้งกับเมืองกวนเหล่ย ซึ่งกวนเหล่ยเป็นเมืองท่าของจีนในแม่น้ำโขงก็กำลังก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง 

"กะหลั่นป้ากำลังถูกสร้างให้โตก้าวกระโดดเป็นเมืองใหญ่ของชาวไทลื้อที่อุดมสมบูรณ์ทั้งด้านเกษตรและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์คาดว่าการท่องเที่ยวกะหลั่นป้าจะคึกคักหลังจากการเดินทางสะดวกขึ้น และมีโรงแรมระดับ 4-5 ดาว และกิจการต่าง ๆ ไปตั้งอยู่หลายแห่ง และกะหลั่นป้ายังเชื่อมกับท่าเรือกวนเหล่ย เมืองแห่งการขนส่งสินค้าทันสมัยในลุ่มน้ำโขงอีกด้วย" 

ทั้งนี้รัฐบาลจีนกำหนดให้ท่าเรือกวนเหล่ยเป็นด่านแห่งเดียวที่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออกประเภทสินค้าแช่เย็นและผลไม้ โดยกำหนดเปิดบริการต้นปี 2560 แต่เนื่องจากอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศไทยเรื่องพิธีสารข้อตกลงในการขนส่งสินค้าด้วยตู้คอนเทนเนอร์ และความพร้อมในการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งในจีนและคู่ค้าทั้ง 4 ชาติ รวมถึงข้อตกลงอื่น ๆ 

ผลจากการเปลี่ยนแปลงที่กวนเหล่ย ทำให้เมืองท่าต่าง ๆ ต้องเร่งปรับตัวตาม ล่าสุดรัฐบาล สปป.ลาวได้โหมพัฒนาท่าเรือเมืองมอม แขวงบ่อแก้ว ใกล้สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อรองรับนโยบายใหม่ของจีนเช่นกัน

จับตาระเบิดเกาะแก่งพื้นที่ติดไทย

ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า การพัฒนาลุ่มน้ำโขงที่ผ่านมามุ่งหวังเพื่อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ ๆ แต่ประเทศเล็ก ๆ หรือประชาชนริมฝั่งแทบไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่กลับได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง ซึ่งทางการจีนยังพยายามจะศึกษาพื้นที่ที่ยังไม่สำรวจและอยู่ติดประเทศไทย

ขณะนี้แม้โครงการระยะที่2จะเงียบไป แต่คงมีการเตรียมดำเนินการอยู่ จึงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตอย่างหนัก ล่าสุดยังมีโครงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบง แขวงอุดมไชย สปป.ลาว ห่างจาก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ลงไปประมาณ 96 กิโลเมตร 

แม้จะเกิดแรงต้าน แต่การพัฒนาด้านต่าง ๆของประเทศจีนต่อลุ่มแม่น้ำโขงก็ยังคงเดินหน้าไม่ยั้ง และในฟากของกลุ่มทุนจีนยังรุกคืบเข้าไปลงทุนด้านการเกษตรในหลายแขวงของ สปป.ลาว และบางส่วนของไทย เช่น สวนกล้วยที่ อ.พญาเม็งราย ฯลฯ 

ขณะที่กลุ่มดอกงิ้วคำซึ่งเป็นกลุ่มจีนได้เข้าไปลงทุนจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำบนพื้นที่10,000 เฮกตาร์ ระยะเวลา 99 ปี บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน โดยเป็นรูปแบบเมืองเพื่อการพักผ่อนและท่องเที่ยว โดยมีคนจีนจากเมืองใหญ่ ๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ ฯลฯ หรือประเทศอื่น ๆ เดินทางไปเยือนอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มบริษัท ต้าถัง จำกัดก็เข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 912 เมกะวัตต์ ฯลฯ 

แม่น้ำโขงในวันนี้กำลังส่งผ่านความเปลี่ยนแปลงต่อเศรษฐกิจ วิถีชีวิตครั้งใหญ่ แล้วประเทศไทยจะได้ประโยชน์นี้ได้อย่างไร

 
{$article->get_attachment}